คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8298/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะลูกหนี้นำเงินเข้าฝากประจำไว้กับผู้คัดค้านและทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับผู้คัดค้านนั้น ลูกหนี้ยังไม่ได้เป็นหนี้ผู้คัดค้าน ลูกหนี้จะเป็นหนี้ผู้-คัดค้านหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากผู้คัดค้านหรือไม่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่ยังไม่แน่นอน หากลูกหนี้ยังไม่เบิกเงินไป ลูกหนี้ก็ยังไม่ได้เป็นหนี้ผู้คัดค้าน ลูกหนี้จะเป็นหนี้ผู้คัดค้านก็ต่อเมื่อได้เบิกเงินไปจากบัญชีเท่านั้น ดังนั้นขณะที่ลูกหนี้นำเงินเข้าฝากประจำและให้สิทธิที่จะถอนเงินฝากประจำของลูกหนี้ดังกล่าวแก่ผู้คัดค้าน แม้จะกระทำในระหว่างที่ลูกหนี้ถูกโจทก์ฟ้องขอให้ล้มละลายแต่ในขณะนั้นผู้คัดค้านก็ยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ในอันที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ การกระทำของลูกหนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ซึ่งผู้ร้องจะร้องขอให้เพิกถอนการกระทำของลูกหนี้ตามมาตรา 115 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483 ได้
เมื่อการให้สิทธิที่จะถอนเงินฝากประจำจากบัญชีของลูกหนี้ซึ่งลูกหนี้มอบอำนาจให้ผู้คัดค้านสามารถถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวหักกลบลบหนี้ที่มีอยู่แก่ผู้คัดค้านเมื่อใดก็ได้ ผู้ร้องไม่อาจร้องขอเพิกถอนได้ และลูกหนี้เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีแก่ผู้คัดค้านในเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิถอนเงินฝากประจำของลูกหนี้หักกลบลบหนี้กับหนี้ที่ลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจากผู้คัดค้านได้ตามมาตรา 102 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483 ทั้งนี้โดยไม่จำต้องอาศัยความยินยอมของลูกหนี้อีก ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการหักกลบลบหนี้ตามมาตรา 115 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483 ได้เช่นกัน

Share