คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7849/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาด-ประโยชน์จำนวน 45,000 บาท และค่าเช่าซื้อที่ขาดจำนวน 301,800 บาทศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเฉพาะค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 15,000 บาทแก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้นในส่วนค่าเช่าซื้อที่ขาดเป็นเงิน 301,800 บาท จำเลยที่ 1 แก้อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 15,000 บาท แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระเงินเป็นค่าเช่าซื้อที่ยังขาดเพิ่มขึ้น200,000 บาท แล้วจำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์ก็ตาม ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องคำนวณหักค่าเสียหายซึ่งจำเลยที่ 1 พอใจตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำนวน 15,000 บาท ออก ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกิน200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ตามข้อสัญญาเช่าซื้อที่กำหนดไว้ว่าผู้เช่าซื้อยอมชำระเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่อีกให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบ ความหมายของคำว่า “ยอมชำระเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่อีก” มีว่า ผู้เช่าซื้อจะต้องชำระราคารถยนต์ที่เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่จนครบตามที่ระบุไว้ในสัญญา เป็นสัญญาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเจ้าของผู้ให้เช่าซื้อถือว่าเป็นข้อตกลงเรื่องค่าเสียหาย เป็นการกำหนดเบี้ยปรับกันไว้ล่วงหน้าเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่อีกนี้จึงมิใช่เป็นกรณีที่กำหนดให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง ดังนั้น แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าโจทก์เรียกร้องมาตามสัญญาเช่าซื้อในส่วนที่เป็นค่าเสื่อมราคาหรือแทนค่าเสื่อมราคา แต่ศาลอุทธรณ์ก็ยังวินิจฉัยต่อไปว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเบี้ยปรับซึ่งถ้าสูงเกินส่วนย่อมลดลงได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องหรืออุทธรณ์ของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
ที่จำเลยฎีกาว่า กรณีน่าเชื่อว่าโจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น โจทก์ได้รับประโยชน์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อคุ้มกับเงินที่โจทก์ลงทุนแล้ว และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายเพิ่มขึ้น200,000 บาท เป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ที่ฟังว่า เงินที่โจทก์ได้รับจากจำเลยมาแล้วยังไม่คุ้มกับความเสียหายในส่วนนี้ เมื่อพิจารณาทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์200,000 บาท จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเห็นพ้องกับศาลล่างทั้งสองว่าตามสัญญาเช่าซื้อ ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีเป็นเบี้ยปรับ แต่โจทก์ได้รับเงินจากจำเลยเป็นเงินจำนวนสูงมากกว่าค่าขาดประโยชน์ใช้สอยรายเดือนเป็นจำนวนมาก เงินส่วนค่าดอกเบี้ยที่เป็นเบี้ยปรับจึงซ้ำซ้อนกับเบี้ยปรับที่โจทก์ได้รับไว้และมีจำนวนมากเกินควรแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจำนวนนี้อีกนั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการกำหนดเบี้ยปรับลดลงเป็นจำนวนพอสมควร โดยให้โจทก์ได้รับเบี้ยปรับเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง
ที่จำเลยว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้จำเลยทั้งสองชำระแก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท เป็นเงิน 15,000 บาทค่าเสียหายในส่วนนี้สูงเกินควร เพราะโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยไปเป็นจำนวนมากคุ้มประโยชน์ของโจทก์แล้ว ขอให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้เสียนั้นเห็นว่า ปัญหาข้อนี้จำเลยมิได้อุทธรณ์ และจำเลยแก้อุทธรณ์ว่า จำเลยเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในการขาดประโยชน์ของโจทก์ 15,000 บาท แล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

Share