คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6056/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อเป็นเอกเทศสัญญาลักษณะหนึ่งที่กำหนดให้คู่สัญญามีสิทธิและหน้าที่ซึ่งจะต้องปฏิบัติต่อกัน หากฝ่ายใดปฏิบัติผิดสัญญาเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียหาย ฝ่ายที่ปฏิบัติผิดสัญญาจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การผิดสัญญานั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคหนึ่ง ดังนั้นแม้สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะไม่มีข้อสัญญาที่กำหนดว่า หากนำรถที่เช่าซื้อออกขายไม่ได้ราคาเท่ากับราคาค่าเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดก็ตามแต่ตามสัญญาดังกล่าวระบุให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ค่าเสื่อมราคาและค่าเสียหายต่าง ๆ เมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วย การที่โจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อและนำเงินที่ได้มารวมกับค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์แล้ว ก็ยังต่ำกว่าราคาค่าเช่าซื้อที่กำหนดไว้ตามสัญญาเช่าซื้อ ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นค่าเสียหายที่โจทก์พึงได้รับและกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ให้แก่โจทก์จึงชอบแล้ว
คดีที่ผู้ให้เช่าจะต้องฟ้องผู้เช่าเกี่ยวกับสัญญาเช่าภายในกำหนด6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 หมายถึงการฟ้องคดีในกรณีที่ผู้เช่าปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้เช่าโดยทั่วไป เช่นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการใช้รถบุบสลาย แต่คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์เรียกค่าเสียหายที่โจทก์ขายรถยนต์พิพาทและนำเงินไปรวมกับค่าเช่าซื้อที่ได้รับชำระมาแล้วยังได้เงินต่ำกว่าค่าเช่าซื้อตามสัญญา ซึ่ง ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 เดิม ที่ใช้อยู่ในขณะที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ คดีจึงไม่ขาดอายุความ
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดนั้น ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ ทั้งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

Share