คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 600/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นกรรมการของมูลนิธิ พ.อันเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องถึงแก่กรรม คดีจึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 (3) ศาลฎีกาให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคลบริหารงานโดยคณะกรรมการ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๕ คน ไม่มากกว่า ๒๕ คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ ๖ ปี มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการครั้งหลังสุดวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๒๕ ผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นประธานคณะกรรมการ คณะกรรมการดังกล่าวได้รับตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๘ จะต้องพ้นตำแหน่งในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๐ หลังจากครบกำหนดที่ต้องพ้นตำแหน่งแล้วไม่มีใครได้รับเลือกตั้งและแต่งตั้งเข้ารับตำแหน่ง มูลนิธิดังกล่าวจึงไม่มีคณะกรรมการที่ถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๐ อีกทั้งการบริหารงานไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของตราสารจัดตั้งมูลนิธิ ขอให้มีคำสั่ง ตั้งบุคคลตามคำร้องเป็นกรรมการ เพื่อบริหารงานของมูลนิธิต่อไป
ผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านว่า ผู้ร้องและบุคคลที่จะเข้ามาเป็นกรรมการตามคำร้องขาดคุณสมบัติที่จะเป็นกรรมการมูลนิธิผู้คัดค้านได้ดำเนินงานของมูลนิธิตามตราสารจัดตั้งโดยมิได้ทำให้มูลนิธิ เสียหาย ขอให้มีคำสั่งยกคำร้องและแต่งตั้งผู้คัดค้านกับพวกเป็นกรรมการของมูลนิธิ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดแถลงร่วมกันว่า คดีตกลงกันได้โดยผู้ร้องและ ผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดจะเสนอรายชื่อกรรมการมูลนิธิต่อศาลคนละ ๒๕ ชื่อ พร้อมทั้งคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นกรรมการ แต่ละคนแล้วใส่ซองปิดผนึกส่งต่อศาล เพื่อให้ศาลพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมเป็นกรรมการมูลนิธิโดยคู่ความยอมรับว่าบุคคลที่เสนอชื่อมานั้นเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเป็นกรรมการมูลนิธิ คู่ความไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเลือกรายชื่อบุคคลที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านเสนอต่อศาลเป็นกรรมการมูลนิธิรวม ๒๕ คน แต่ไม่มีชื่อผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ระหว่างพิจารณาผู้ร้องถึงแก่กรรม นายมายี๊ด ตะเคียนคาม ทายาทของผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกายกคำร้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นคณะกรรมการของมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทยอันเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องถึงแก่กรรม คดีจึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๒ (๓)
จึงให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ

Share