แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทว่าจำเลยขายที่พิพาทให้แก่โจทก์จริงหรือไม่ จำเลยมิได้โต้แย้งว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นไม่ถูกต้อง และศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า จำเลยขายที่พิพาทซึ่งเป็นส่วนของจำเลยพร้อมทั้งมอบสิทธิการครอบครองให้แก่โจทก์จริง มิใช่จำเลยกู้ยืมจากโจทก์แล้วมอบที่พิพาทให้โจทก์ทำนาต่างดอกเบี้ยดังที่จำเลยต่อสู้ จำเลยมิได้ฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงดังกล่าวการที่จำเลยฎีกาว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินมรดกของบิดาจำเลยซึ่งมีบุตร 6 คน จำเลยจึงไม่มีอำนาจขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ หากจำเลยขายที่พิพาทก็จะต้องถูกกำจัดไม่ให้ได้รับมรดก และนายใหญ่ อาจสูงเนิน เป็นผู้ครอบครองที่พิพาท โจทก์ไม่มีสิทธิในที่พิพาทไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่อาจรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่า ที่พิพาทมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นหลักฐานทางทะเบียน จำเลยขายให้โจทก์โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การซื้อขายตกเป็นโมฆะนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้วินิจฉัยถึงเรื่องที่จำเลยยกขึ้นฎีกาดังกล่าว ฎีกาจำเลยจึงมิได้โต้แย้งว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1ไม่วินิจฉัยปัญหาที่จำเลยยกขึ้นฎีกานั้นไม่ชอบเพราะเหตุ และจะมีผลอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
(ผล อนุวัตรนิติการ – สมปอง เสนเนียม – พิมล สมานิตย์) ศาลจังหวัดนครราชสีมา นายปกรณ์ วงศาโรจน์ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ นายชัยโรช กฤษณะโลม
นายธานิศ เกศวพิทักษ์ – ย่อ
วาสนา พ/ท