คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ต้องตามบทบัญญัติทั้งปวงแห่งกฎหมาย ภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของจำเลยที่ 1 ดั่งมีกำหนดไว้ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งจำเลยที่ 1ตาม ป.พ.พ.มาตรา 69 เดิม ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้และตามมาตรา 75 เดิม บัญญัติว่า อันความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงปรากฏจากผู้แทนทั้งหลายของนิติบุคคลนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้แทนที่ดำเนินการหรือแสดงความประสงค์ของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาว่าจ้างหรือจำเลยที่ 4ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ 4ในสัญญาว่าจ้างโจทก์ก็ดี ก็เป็นการกระทำในฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 1 ได้รับผลงานจากการจ้าง ที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ก็ดี ลงลายมือชื่อในเอกสารยอมรับชำระหนี้ให้แก่โจทก์ก็ดี หรือจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อรับรองยอดหนี้ของจำเลยที่ 1 ก็ดี ตลอดจนที่จำเลยที่ 4ลงลายมือชื่อรับมอบงวดงานตามเอกสารต่าง ๆ ก็ดี แม้มิได้ระบุว่ากระทำการแทนจำเลยที่ 1 ก็พึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 กระทำการในฐานะเป็นกรรมการหรือผู้แทนของจำเลยที่ 1 นั่นเอง และแม้ทุนจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 จะมีน้อยกว่าการงานที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ แต่ก็ได้ความว่าหากขาดเงินทุนหมุนเวียนจำเลยที่ 1 ก็จะไปขอสินเชื่อจากธนาคาร นอกจากนี้ตามสัญญาว่าจ้าง จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ ไม่มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ว่าจ้างโจทก์ในฐานะส่วนตัวแต่อย่างใด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ว่าจ้างโจทก์ในฐานะส่วนตัวด้วยจำเลยที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงหาจำต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ไม่

Share