แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาที่ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับยาพิพาทไม่มีทางที่จะสับสนหลงผิดว่ายาของจำเลยเป็นยาของโจทก์ และจำเลยไม่มีเจตนาที่จะเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพราะลักษณะและสีของฉลาก การใช้ตัวอักษรของยากับลักษณะของเม็ดยาเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนเนื่องจากยาของโจทก์มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์กำกับทุกเม็ดส่วนของจำเลยไม่มี เมื่อจำเลยทราบว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายของโจทก์ จำเลยเลิกผลิตยาในชื่อเดิมทันที การที่ชื่อยาพิพาทมีความใกล้เคียงกันเป็นเหตุบังเอิญหาใช่จำเลยมีเจตนาทุจริตไม่นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่า กรมทะเบียนการค้าโดยคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงต้องถือว่าการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ถูกต้องมาแต่แรก โจทก์ไม่มีสิทธิอ้างเครื่องหมายการค้านี้แต่ผู้เดียว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์นั้น แม้จะเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แต่เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพิ่งมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์หลังจากจำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เพิ่งปรากฏในชั้นศาลอุทธรณ์ จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง
เหตุที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เนื่องจากเป็นเครื่องหมายที่ขัดต่อนโยบายแห่งรัฐในอันที่จะต้องให้ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก ดังนั้น การเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวจึงหากระทบกระเทือนถึงสิทธิของโจทก์ในการเป็นเจ้าของและการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวก่อนที่จะถูกเพิกถอนไม่และไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่เป็นการละเมิดมาแต่เดิมกลายเป็นไม่ละเมิด