แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์จริงแต่มีข้อกำหนดในสัญญาเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนว่า สัญญาจะมีผลเป็นการซื้อขายต่อเมื่อจำเลยทำการออกโฉนดที่ดินให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด แต่เงื่อนไขดังกล่าวไม่สำเร็จลงภายในกำหนดสัญญา สัญญาเป็นอันยกเลิก คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมจำเลยไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย และดอกเบี้ย ดังนี้เท่ากับจำเลยยกข้อสัญญาขึ้นปฏิเสธความรับผิดว่า โจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญานั่นเอง ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวได้
สัญญาจะซื้อขายที่ดินที่จำเลยทำกับโจทก์เป็นสัญญาที่สมบูรณ์สามารถบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 456 วรรคสอง ข้อสัญญาที่ว่าจำเลยจะทำการหักโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ เมื่อออกโฉนดแล้วภายใน 180 วัน นั้นมิใช่ข้อตกลงอันบังคับไว้ให้นิติกรรมเป็นผล จึงมิใช่เงื่อนไขบังคับก่อนตาม มาตรา145 เดิม หากแต่เป็นเพียงข้อตกลงที่กำหนดหน้าที่ของจำเลยจะต้องดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินที่จะขายให้สำเร็จ ก่อนที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์เท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็นประโยชน์ที่โจทก์จะพึงได้รับเพิ่มขึ้นโดยข้อสัญญาเป็นการกำหนดหน้าที่จำเลยเพิ่มขึ้นโดยข้อสัญญา เมื่อโจทก์สละประโยชน์ที่จะพึงได้รับตามข้อสัญญาดังกล่าวเสีย ขอบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามสัญญาจะซื้อขายซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมายที่โจทก์จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตาม มาตรา 456 วรรคสอง กำหนดเวลา180 วัน ที่จำเลยจะต้องจดทะเบียนโอนที่ดินที่จะขายอย่างที่ดินมีโฉนดแล้วจึงเป็นอันสิ้นผลไปด้วย