คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5649/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อาคารพิพาทที่โจทก์ฟ้องขับไล่แม้โจทก์จะอ้างว่าให้เช่าได้เดือนละ 25,000 บาท แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าแม้อาคารพิพาทจะอยู่ในทำเลการค้าแต่ก็เป็นอาคารที่ก่อสร้างมานาน จึงกำหนดค่าเสียหายให้เพียงเดือนละ 10,000 บาทโจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงถือได้ว่าอาคารพิพาทอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา 248วรรคสอง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและอาคารพิพาทให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากอาคารพิพาท และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินและอาคารพิพาทค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท สูงเกินไปเพราะเป็นตึกเก่าอย่างมากคิดได้เดือนละ5,000 บาท จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิอยู่ในอาคารพิพาทเพราะมีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาซึ่งพอแปลได้ว่าโจทก์ยังไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยนั้น ในประเด็นดังกล่าวจำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นแต่ขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาตามคำฟ้องแย้งของจำเลย ซึ่งคำฟ้องแย้งของจำเลยศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ฎีกาของจำเลยในประเด็นข้อนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะคำเบิกความของโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ประเด็นอำนาจฟ้องให้ชัดแจ้งได้นั้นก็เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง
ปรากฏจากคำฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาทตั้งอยู่ที่ถนนเยาวราช แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพ-มหานคร จำเลยเช่าอาคารพิพาทเลขที่ 424 จากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมโดยไม่มีสัญญาเช่าและกำหนดเวลาเช่า จำเลยยื่นคำให้การว่าเช่าที่ดินพิพาทอยู่จริงและมีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดามีกำหนดระยะเวลา 30 ปีโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทมาจึงต้องรับสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องให้จำเลยเช่าอยู่ในอาคารจนครบกำหนดเวลาดังกล่าว แสดงว่าจำเลยเข้าใจดีว่าอาคารพิพาทตั้งอยู่ส่วนใดของที่ดินพิพาทและสามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้องฟ้องโจทก์จึงได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาของโจทก์ได้แล้วตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172วรรค 2 ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

Share