คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 799/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ที่โจทก์ไม่ได้ตัวมาเบิกความในชั้นศาล อาจรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ จำเลยพาผู้เสียหาย 5 คนไปทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารและจำเลยบังคับให้ผู้เสียหายทั้ง 5 คน ร่วมประเวณีกับแขกที่มารับประทานอาหารเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะ ถือได้ว่าจำเลยเจตนาจะให้เกิดผลต่างกรรมกัน จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคแรก รวม 5 กระทง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน 2533 เวลากลางวันถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2533 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกอีก 1 คนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันเป็นธุระจัดหาล่อไปชักพาไปเพื่อการอนาจาร ซึ่งนางสาวใกล้รุ่ง อายุ 22 ปี นางพรพรรณ อายุ 31 ปีนางอรพิน อายุ 24 ปี นางสาววรรณดี อายุ 28 ปี และนางสาวศิริพรรณ อายุ 34 ปี ให้ไปทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารที่ร้านอาหารจนผู้เสียหายทั้งห้าหลงเชื่อยอมไปกับจำเลยกับพวกดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยกับพวกได้ร่วมกันใช้กิริยาวาจาขู่เข็ญให้ผู้เสียหายทั้งห้ายอมค้าประเวณีกับชายที่มารับประทานอาหารโดยจำเลยกับพวกเป็นผู้รับเงินค้าประเวณีจากชายที่มาเที่ยวเป็นผลประโยชน์ตอบแทน นอกจากนี้จำเลยกับพวกยังได้ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายทั้งห้าไว้ในห้องใส่กุญแจ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งห้าปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 83, 282, 283, 310 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 8)พ.ศ. 2530 มาตรา 5
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 283 วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 10 ปี ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายทั้งห้าทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ ร้านอาหารชายทุ่งของจำเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2533 เจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบว่า ร้านอาหารชายทุ่งของจำเลยมีหญิงสาวถูกบังคับให้ค้าประเวณี พันตำรวจโทไชยรัตน์ ดอนพลอยเพชร สารวัตรสถานีตำรวจภูธรตำบลช้างใหญ่ จึงสั่งการให้ร้อยตำรวจเอกสวัสดิ์ นามพิบูลย์ไปตรวจสอบที่เกิดเหตุพบผู้เสียหายทั้งห้าและจำเลย จึงนำตัวมาสถานีตำรวจจับกุมจำเลยและแจ้งข้อหาให้ทราบ มีปัญหาว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาหรือไม่ โจทก์มีนางพรพรรณและนางสาววรรณดี ผู้เสียหายเบิกความสอดคล้องต้องกันว่าถูกบังคับให้ค้าประเวณี คำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวตรงกับบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนซึ่งผู้เสียหายได้ให้การไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.5 นอกจากนี้โจทก์ยังมีพันตำรวจโทไชยรัตน์ และร้อยตำรวจเอกสวัสดิ์เบิกความสนับสนุนว่า ผู้เสียหายทั้งห้าให้การว่า ถูกบังคับให้ค้าประเวณี แม้โจทก์จะไม่ได้ตัวผู้เสียหายอื่นมาเบิกความ แต่โจทก์ก็มีคำให้การชั้นสอบสวนของนางสาวใกล้รุ่งนางอรพิน นางสาวศิริพรรณ ผู้เสียหาย ตามเอกสารหมาย จ.1 จ.3และ จ.4 ซึ่งคำให้การดังกล่าวก็สอดคล้องกับคำเบิกความของนางพรพรรณและนางสาววรรณดี ผู้เสียหายทั้งสอง แม้คำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวจะเป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่นางสาวใกล้รุ่ง นางอรพิน และนางสาวศิริพรรณก็ได้ให้การต่อพันตำรวจโทไชยรัตน์ในวันตรวจค้นและจับกุมจำเลยนั่นเอง ไม่น่าเชื่อว่าจะปรุงแต่งขึ้นโดยไม่มีมูลความจริงจึงรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ดังนั้นการที่โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายอื่นมาเบิกความหาเป็นเหตุพิรุธแต่อย่างใดไม่ ประกอบกับผู้เสียหายทุกคนเป็นหญิงมาจากต่างถิ่นจึงไม่น่าเชื่อว่าจะกล้าเบิกความและให้การปรักปรำจำเลยดังที่จำเลยฎีกา ที่จำเลยฎีกาว่า นางพรพรรณและนางสาววรรณดีเบิกความขัดแย้งกันในเรื่องผู้ถูกทำร้ายร่างกาย หากถูกทำร้ายจริงก็ต้องเล่าให้แขกที่มาเที่ยวหาความสำราญฟังเพื่อขอความช่วยเหลือ และเจ้าพนักงานตำรวจทราบเรื่องหญิงสาวถูกบังคับให้ค้าประเวณีที่ร้านอาหารชายทุ่ง โดยพันตำรวจโทไชยรัตน์ทราบจากข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ส่วนนางพรพรรณเบิกความว่า ได้เล่าให้เจ้าพนักงานตำรวจที่มารับประทานอาหารฟังและขอความช่วยเหลือแตกต่างกันนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ผู้เสียหายต่างยืนยันว่า เมื่อมาทำงานได้ประมาณ3 วัน ก็ถูกจำเลยบังคับให้ร่วมประเวณีกับแขกที่มารับประทานอาหารโดยใช้สถานที่ห้องนอนของแต่ละคน หากไม่ยอมก็จะถูกตบตีทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจึงต้องจำยอม และเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมารับประทานอาหารนางพรพรรณได้เล่าให้เจ้าพนักงานตำรวจฟังและขอความช่วยเหลือประกอบกับหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ลงข่าวว่าที่ร้านอาหารชายทุ่งมีหญิงสาวถูกบังคับให้ค้าประเวณี พันตำรวจโทไชยรัตน์จึงสั่งการให้ร้อยตำรวจเอกสวัสดิ์ไปตรวจค้น ผู้เสียหายต่างให้การว่าถูกบังคับให้ร่วมประเวณีกับแขกที่มารับประทานอาหารและอยากกลับบ้านเจ้าพนักงานตำรวจจึงจับกุมจำเลยแจ้งข้อหาให้ทราบ ดังนี้ ข้อแตกต่างและข้อขัดแย้งดังกล่าวหาใช่เป็นข้อสาระสำคัญจนไม่อาจรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น ที่จำเลยอ้างว่าผู้เสียหายยังไม่เคยถูกทำร้ายร่างกายและสมัครใจยินยอมร่วมประเวณีกับแขกที่มารับประทานอาหาร จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าห้องพักหลังร้านอาหารจัดไว้เป็นสวัสดิการแก่พนักงานร้านของจำเลยมิได้เป็นห้องที่จำเลยจัดไว้เพื่อการค้าประเวณีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อพิจารณาลักษณะร้านอาหารชายทุ่งตามเอกสารหมาย จ.7 และภาพถ่ายหมาย จ.11 จะเห็นได้ว่า บริเวณด้านหลังร้านแบ่งออกเป็นห้อง ๆผู้เสียหายแต่ละคนถูกจัดให้นอนคนละห้อง แม้จำเลยจะอ้างว่าจัดไว้เป็นสวัสดิการแก่พนักงานร้านของจำเลยก็ตาม แต่ก็ได้ความจากผู้เสียหายว่า นอกจากผู้เสียหายพักห้องพักดังกล่าวแล้ว ยังใช้ห้องนอนของแต่ละคนเป็นที่ร่วมประเวณีกับแขกที่มารับประทานอาหารด้วย จึงฟังได้ว่า จำเลยจัดห้องพักดังกล่าวไว้เพื่อจุดประสงค์ในการค้าประเวณีด้วยหาใช่เป็นห้องพักที่จัดไว้ให้พนักงานลูกจ้างของร้านพักอาศัยแต่อย่างเดียวดังฎีกาของจำเลยไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า เหตุคดีนี้เกิดจากกรณีผู้เสียหายกู้เงินจากจำเลยจะไม่ชดใช้คืน และไม่พอใจที่จำเลยคิดดอกเบี้ยแพงจึงกล่าวหาจำเลยนั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะมีหนังสือสัญญากู้ยืมเงินมาแสดงและมีสิบตำรวจตรีสุวิทย์ปัสสาวัส มาเบิกความยืนยันว่า ผู้เสียหายได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้ยืมต่อหน้าพยานก็ตาม แต่ปรากฏว่าจำเลยมิได้ถามค้านผู้เสียหายที่มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ให้ปรากฏเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินดังกล่าว จึงไม่ปรากฏเหตุผลและความจำเป็นที่ผู้เสียหายจะต้องกู้ยืมเงินจากจำเลย ประกอบกับหนังสือสัญญากู้ยืมเงินก็มีข้อพิรุธ นอกจากจะมีผู้ค้ำประกันเป็นคนคนเดียวกันทั้งห้าฉบับแล้วไม่ปรากฏว่าผู้ค้ำประกันมีความสัมพันธ์กับผู้เสียหายและจำเลยอันจะทำให้เชื่อว่า ได้มีการกู้ยืมเงินและมีการค้ำประกันกันจริงที่จำเลยอ้างว่า จำเลยคิดดอกเบี้ยแพงก็ปรากฏตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินแต่เพียงว่า คิดดอกเบี้ยชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือนเท่านั้นและที่สิบตำรวจตรีสุวิทย์เบิกความว่า ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน12,000 บาท แต่ผู้เสียหายรับเงินไปเพียง 6,000 บาท ก็ไม่มีพยานสนับสนุนข้อนำสืบของจำเลยในส่วนนี้จึงเลื่อนลอยฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายกล่าวหาจำเลยจากสาเหตุการกู้ยืมเงิน ดังที่จำเลยนำสืบพยานหลักฐานจำเลยมีเหตุผลและน้ำหนักน้อยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ คดีฟังได้ว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งห้า โดยอ้างว่าจะพาไปทำงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ต่อมากลับบังคับให้ผู้เสียหายทั้งห้าทำการค้าประเวณี ดังนั้น การที่จำเลยพาผู้เสียหายทั้งห้าไปในครั้งเดียวกัน ก็เป็นการกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะ ถือได้ว่าจำเลยเจตนาจะให้เกิดผลต่างกรรมกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคแรก ลงโทษเป็นกรรมเดียวนั้น ไม่ถูกต้อง แม้ฝ่ายโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาชอบที่จะแก้ไขให้ถูกต้องโดยลงโทษเท่าเดิมได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 283 วรรคแรก 5 กระทง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share