คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5656/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์โอนลูกหนี้การค้าและลูกหนี้ตามตั๋วแลกเงินตามฟ้องสืบเนื่องมาจากโจทก์จัดรูปแบบการดำเนินกิจการใหม่เป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศจึงได้โอนกิจการขายสินค้าภายในประเทศทั้งหมดให้แก่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัดซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทโจทก์ การโอนลูกหนี้ทั้งสองประเภทของโจทก์จึงมิได้เกี่ยวข้องกับหนี้สูญ ไม่ใช่กรณีมีการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ตามความหมายในป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (9)
แม้ว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามบัญชีลูกหนี้การค้าและลูกหนี้ตามตั๋วแลกเงินจะเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง แต่ก็เป็นทรัพย์สินที่ยังไม่แน่นอนว่าผู้รับโอนจะได้รับครบถ้วนหรือไม่ เพราะเมื่อหนี้ดังกล่าวถึงกำหนดชำระ ลูกหนี้บางรายอาจไม่อยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ได้ ในการทำสัญญาโอนลูกหนี้ทั้งสองประเภทนั้น ผู้รับโอนจะยังไม่ได้ประโยชน์ตามสัญญาจนกว่าหนี้จะถึงกำหนดชำระและผู้รับโอนได้รับชำระหนี้แล้ว การให้ส่วนลดแก่ผู้รับโอนในการโอนลูกหนี้ทั้งสองประเภทจึงมีเหตุผล และที่โจทก์ให้ส่วนลดในอัตราร้อยละ 15 สำหรับการโอนลูกหนี้การค้านั้น โจทก์คิดคำนวณจากสถิติการเก็บหนี้จากลูกหนี้การค้าย้อนหลังเป็นเวลาหลายปีจึงเป็นอัตราที่สมควรส่วนที่โจทก์ให้ส่วนลดในอัตราร้อยละ 2.5 สำหรับทั้งการโอนลูกหนี้การค้าและลูกหนี้ตามตั๋วแลกเงินเพื่อชดเชยการที่หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระนั้น โจทก์กำหนดขึ้นโดยคิดคำนวณจากระยะเวลาโดยเฉลี่ยของหนี้ที่โอนทั้งหมดว่าจะถึงกำหนดชำระภายใน 2เดือน นับแต่วันฟ้อง จึงกำหนดอัตราร้อยละ 2.5 ต่อระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งก็คืออัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั่นเอง ถือได้ว่าเป็นอัตราที่สมควรเช่นกัน จะถือว่าเป็นการโอนทรัพย์สินต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรมิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้มีหนังสือที่ กค.๐๘๐๗/๖๕๔๒ หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.๒/๑๐๒๐/๒/๐๑๑๗๕ ให้โจทก์นำภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มดังกล่าวไปชำระ โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยจำเลยได้อนุมัติให้ทุเลาการชำระภาษีของโจทก์ไว้ก่อนจนกว่าคณะกรรม-การพิจารณาอุทธรณ์จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัย-อุทธรณ์ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการถูกต้องตามกฎหมายและชอบแล้วและให้โจทก์นำเงินภาษีและเงินเพิ่มเป็นเงิน ๖,๘๔๘,๔๔๘.๖๒ บาท ไปชำระณ สำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ ที่ กค.๐๘๐๗/๖๕๔๒เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.๒/๑๐๒๐/๒/๐๑๑๗๕ และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.๗) เลขที่ ๑๓๕/๒๕๓๓/๑ ที่ให้โจทก์เสียภาษีและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน ๖,๘๔๔,๔๔๘.๖๒ บาท
จำเลยให้การว่า การแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ และการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์คัดค้านการประเมินของเจ้า-พนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ ต.๒/๑๐๒๐/๒/๐๑๑๗๕ ของโจทก์นั้น ก็ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ ที่ กค.๐๘๐๗/๖๕๔๒ เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต.๒/๑๐๑๒/๒/๐๑๑๗๕ เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.๗) เลขที่ ๑๓๕/๒๕๓๓/๑โดยให้จำเลยแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ และทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ใหม่ โดยถืออัตราส่วนลดในค่าใช้จ่ายเพื่อเรียกเก็บหนี้และความเสี่ยงในหนี้สูญเป็นร้อยละ ๑๐ และส่วนลดเพื่อชดเชยดอกเบี้ยเกี่ยวกับลูกหนี้การค้าและลูกหนี้ตามตั๋วแลกเงินในอัตราร้อยละ ๒.๕ ของยอดหนี้
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า การที่โจทก์โอนลูกหนี้การค้าและลูกหนี้ตามตั๋วแลกเงินตามฟ้อง สืบเนื่องมาจากโจทก์จัดรูปแบบการดำเนินกิจการใหม่เป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศจึงได้โอนกิจการขายสินค้าภายในประเทศทั้งหมดให้แก่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทโจทก์ การโอนลูกหนี้ทั้งสองประเภทของโจทก์จึงมิได้เกี่ยวข้องกับหนี้สูญ ไม่ใช่กรณีมีการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ตามความหมายในบทบัญญัติดังกล่าว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อมาว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามบัญชีลูกหนี้การค้าและลูกหนี้ตามตั๋วแลกเงินจะเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง แต่ก็เป็นทรัพย์สินที่ยังไม่แน่นอนว่าผู้รับโอนจะได้รับครบถ้วนหรือไม่ เพราะเมื่อหนี้ดังกล่าวถึงกำหนดชำระลูกหนี้บางรายอาจไม่อยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ได้ ทั้งอาจต้องมีการติดตามทวงถามหรือฟ้องร้องบังคับคดีซึ่งย่อมต้องมีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ก็เห็นได้ว่า ในการทำสัญญาโอนลูกหนี้ทั้งสองประเภทนั้น ผู้รับโอนจะยังไม่ได้ประโยชน์ตามสัญญาจนกว่าหนี้จะถึงกำหนดชำระและผู้รับโอนได้รับชำระหนี้แล้ว การให้ส่วนลดแก่ผู้รับโอนในการโอนลูกหนี้ทั้งสองประเภทจึงมีเหตุผล และที่โจทก์ให้ส่วนลดในอัตราร้อยละ ๑๕ สำหรับการโอนลูกหนี้การค้านั้น โจทก์คิดคำนวณจากสถิติการเก็บหนี้จากลูกหนี้การค้าย้อนหลังเป็นเวลาหลายปีจึงเป็นอัตราที่สมควร ส่วนที่โจทก์ให้ส่วนลดในอัตราร้อยละ ๒.๕ สำหรับทั้งการโอนลูกหนี้การค้าและลูกหนี้ตามตั๋วแลกเงินเพื่อชดเชย การที่หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระนั้นโจทก์กำหนดขึ้นโดยคิดคำนวณจากระยะเวลาโดยเฉลี่ยของหนี้ที่โอนทั้งหมดว่าจะถึงกำหนดชำระภายใน ๒ เดือน นับแต่วันฟ้อง จึงกำหนดอัตราร้อยละ ๒.๕ ต่อระยะเวลา ๒ เดือน ซึ่งก็คืออัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นั่นเอง ถือได้ว่าเป็นอัตราที่สมควรเช่นกัน จะถือว่าเป็นการโอนทรัพย์สินต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรมิได้ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่ามีเหตุอันควรในการให้ส่วนลดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยแต่ที่ศาลภาษีอากรกลางใช้ดุลพินิจกำหนดอัตราส่วนลดสำหรับลูกหนี้การค้าในส่วนที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเรียกเก็บหนี้และความเสี่ยงในหนี้สูญใหม่เป็นอัตราร้อยละ๑๐ นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนหนังสือแจ้งเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิที่ ก.ค.๐๘๐๗/๖๕๔๒ หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ๓๒/๑๐๒๐/๒/๐๑๑๗๕และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ ๑๓๕/๒๕๓๓/๑ ทั้งหมด.

Share