คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1632/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารมีหน้าที่จัดระเบียบการเดินรถยนต์โดยสารขนาดเล็กในเขตกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 3 อนุญาตให้รถยนต์โดยสารขนาดเล็กคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ร่วมเดินรถกับจำเลยที่ 3 ในเส้นทางสาย 1014 จากปากซอยอุดมสุขถึงปลายซอยดังกล่าว จำเลยที่ 3 ได้ประโยชน์ตอบแทนคือค่าทำสัญญาปีละ 500 บาท เมื่อรถยนต์โดยสารขนาดเล็กได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเดินรถกับจำเลยที่ 3 แล้ว จะมีการประทับตราจำเลยที่ 3 ไว้ที่ตัวรถ นอกจากนั้นจำเลยที่ 3 ยังสงวนสิทธิในการหาประโยชน์จากการโฆษณาทั้งภายในและภายนอกตัวรถยนต์โดยสารขนาดเล็กที่เข้าร่วมเดินรถกับจำเลยที่ 3 อีกทั้งลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบวินัย และคำสั่งของจำเลยที่ 3 ทุกประการด้วย ถือได้ว่ากิจการเดินรถของรถยนต์โดยสารขนาดเล็กคันเกิดเหตุเป็นกิจการร่วมกันระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 จ้างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจึงถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย
เจ้าของรถที่เข้าร่วมกับจำเลยที่ 3 สามารถนำรถออกนอกเส้นทางได้ด้วยเหตุ 3 ประการ คือ ใช้ในราชการ ใช้ในกิจการส่วนตัว และใช้ในเรื่องสาธารณประโยชน์ แต่ต้องขออนุญาตจากจำเลยที่ 3 ก่อน หากฝ่าฝืนสัญญาข้อ 6 ก็ระบุไว้ว่า จำเลยที่ 3 มีสิทธิสั่งห้ามมิให้เจ้าของรถนำรถออกวิ่งรับผู้โดยสารในเส้นทางมีระยะเวลาตามที่จำเลยที่ 3 กำหนด หรือบอกเลิกสัญญาได้ แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 สามารถที่จะนำรถยนต์โดยสารขนาดเล็กคันเกิดเหตุไปใช้นอกเส้นทางที่กำหนดไว้ตามสัญญาได้ เพียงแต่ต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 3 ก่อนเท่านั้น แม้จะฝ่าฝืนสัญญาข้อนี้ ก็ไม่เป็นเหตุให้สัญญาเลิกกัน เพียงแต่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเท่านั้น ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1จะขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุออกนอกเส้นทาง แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ดังกล่าวโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถยนต์ที่ผู้ตายขับและผู้ตายถึงแก่ความตายจึงถือได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารขนาดเล็กคันเกิดเหตุรับจ้างเหมาขนส่งนักศึกษารักษาดินแดนเป็นการรับจ้างทำของ นอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 3 นั้น แม้จำเลยที่ 3 จะยกประเด็นนี้ขึ้นต่อสู้ในคำให้การ แต่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 นำรถไปใช้นอกเส้นทางจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดโดยไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว เมื่อโจทก์อุทธรณ์ให้จำเลยที่ 3 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 3 ก็มิได้แก้อุทธรณ์ และยกประเด็นนี้ขึ้นว่ากล่าวไว้ในชั้นอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

Share