แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อาคารประเภทควบคุมการใช้เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว ก่อนใช้จะต้องได้รับใบรับรองการก่อสร้างก่อน การที่จำเลยเปิดใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้ตั้งแต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จจำเลยจึงมีความผิดฐานใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่มีใบรับรองการก่อสร้าง และเมื่อเจ้าพนักงานงานท้องถิ่นมีคำสั่งโดยชอบให้จำเลยระงับการใช้ จำเลยยังคงฝ่าฝืนใช้อาคารต่อไปจึงมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารที่ยังไม่ได้รับใบรับรองการก่อสร้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒มาตรา ๔, ๓๑, ๓๒, ๔๐, ๔๓, ๔๔, ๔๗, ๖๕, ๖๙, ๗๐ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ.๒๕๒๗)ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๐,๙๑, ๓๖๘ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๔
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานร่วมกันก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๑, ๖๕ วรรคหนึ่ง, ๖๙ ปรับ๑๕,๐๐๐ บาท ฐานฝ่าฝืนใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่รับอนุญาต ๒๙๑ วัน ตามมาตรา ๓๒,๖๕ วรรคสอง, ๖๙, ๗๐ จำคุก ๖ เดือน ปรับ ๒,๙๑๐,๐๐๐ บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่สั่งให้ระงับการใช้อาคาร ๒๘๘ วัน ตามมาตรา ๓๒, ๔๔, ๖๗, ๖๙, ๗๐ ซึ่งป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดจำคุก ๑ ปี ปรับ ๒,๘๘๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน ปรับ ๕,๘๐๕,๐๐๐ บาทจำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวนลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก ๑ ปี และปรับ ๓,๘๗๐,๐๐๐ บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด ๒ ปี ไม่ชำระค่าปรับให้กักขัง ๒ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องความผิดฐานใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่มีใบรับรองการก่อสร้าง และความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานให้ระงับการใช้อาคารที่ยังไม่ได้รับใบรับรองการก่อสร้าง นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยฝ่าฝืนใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่มีใบรับรองการก่อสร้าง และข้อสองว่า จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารที่ยังไม่ได้รับรองการก่อสร้างหรือไม่ ปัญหาข้อแรกโจทก์ฟ้องและนำสืบว่า เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๐ นายธำรง จันทร์หอม นายช่างโยธา ๓เขตพระโขนง ตรวจพบว่าจำเลยได้ใช้อาคารดังกล่าวชั้นที่ ๑ และชั้นที่ ๒ เป็นสถานบริการจำหน่ายเครื่องดื่มอาหารและมีดนตรีตั้งแต่วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๐ ใช้ชื่อสถานบริการว่ายัวร์เพลส์และจำเลยได้เปิดบริการต่อมารวม ๒๙๑ วัน ในเรื่องนี้จำเลยก็เบิกความตอบคำถามโจทก์และได้ให้การในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.๓๑ เป็นอย่างเดียวกันว่า จำเลยได้เปิดใช้อาคารเมื่อวันที่๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๐ จนถึงปัจจุบันและได้ตรวจดูบันทึกการฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างตามเอกสารหมาย จ.๑๗ แผ่นที่ ๒ ได้ระบุว่าวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๐ ติดตั้งอุปกรณ์ตกแต่งภายใน สร้างสระน้ำหน้าภัตตาคารใช้คนงานประมาณ ๕๐ คน และวันต่อมาก็มีการก่อสร้างฉาบปูน และต่อ ๆ มาก็ยังมีคนงานทำการก่อสร้าง แสดงว่าจำเลยได้เปิดใช้อาคารตั้งแต่ก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ จึงฟังได้ว่าจำเลยได้ฝ่าฝืนใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่มีใบรับรองการก่อสร้างเป็นเวลา ๒๙๑ วันพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๒ วรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ประเภทควบคุมการใช้ได้กระทำการนั้นเสร็จแล้วห้ามเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารนั้นเพื่อกิจการดังที่ระบุไว้ในใบอนุญาต เว้นแต่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ออกใบรับรองว่าการก่อสร้าง ดัดแปลงหรือเคลื่อนย้ายนั้นเป็นไปโดยถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาตแล้ว” เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวนำมาพิจารณากรณีของจำเลยหากจำเลยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างดัดแปลงอาคารประเภทควบคุมการใช้นั้นเสร็จแล้ว จำเลยได้เปิดใช้อาคารดังกล่าวโดยที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นยังไม่ได้ออกใบรับรองการก่อสร้างดัดแปลงอาคารดังกล่าวนั้นว่าเป็นไปโดยถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาต จำเลยก็ต้องมีความผิด ดังนั้นเมื่อได้ความว่าจำเลยได้ฝ่าฝืนเปิดใช้อาคารเป็นสถานบริการตั้งแต่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ จำเลยก็ต้องมีความผิดตามบทมาตราดังกล่าว ปัญหาข้อสองโจทก์นำสืบว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยนายวิชา จิวาลัย ได้มีคำสั่งให้จำเลยระงับการใช้อาคาร (กรณียังไม่ได้มีการรับรอง) ตามเอกสารหมาย จ.๑๘ ซึ่งจำเลยได้รับเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ แต่จำเลยยังคงฝ่าฝืนคำสั่งได้ใช้อาคารดังกล่าวเป็นสถานบริการโดยไม่มีใบรับรองการก่อสร้างจนถึงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ ตามเอกสารหมาย จ.๑๙ เป็นเวลารวม ๒๘๘ วัน เห็นว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งตามพระราชบัญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒มาตรา ๔๔ ซึ่งจำเลยได้ฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ สั่งให้จำเลยระงับการใช้อาคารที่ยังไม่ได้รับใบรับรองหรือใบอนุญาตดังกล่าวแล้ว เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจที่จะสั่งได้ เมื่อจำเลยฝ่าฝืนยังคงใช้อาคารเปิดเป็นสถานบริการต่อไป จำเลยต้องมีความผิด ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้ยื่นคำขอแก้ไขดัดแปลงอาคารตามแบบแปลนเอกสารหมาย ล.๑ ถึง ล.๒๔ และคำขอตามเอกสารหมาย ล.๒๕ ต่อสำนัก-การโยธากรุงเทพมหานคร แต่เจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่สั่งไม่อนุญาตภายใน ๔๕ วัน จึงไม่ถูกต้องนั้นเห็นว่า การที่เจ้าพนักงานสั่งอนุญาตให้แก้ไขดัดแปลงอาคารล่าช้าเป็นคนละส่วนต่างหากกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.