คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6809/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสำเนาตารางกรมธรรม์ระบุว่า สัญญาประกันภัยรายนี้จำเลยที่ 2 เป็นผู้เอาประกันภัย และ ป. เป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ อันจะทำให้จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิด หากวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้างแรงของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 879 และจะแปลความหมายของคำว่า ผู้เอาประกันภัยตามมาตรา 879 วรรคหนึ่ง รวมถึงลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยด้วยก็ขัดกับคำนิยามของคำว่า “ผู้เอาประกันภัย” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 862 อีกทั้งตามตารางกรมธรรม์ดังกล่าวปรากฏว่า มีข้อยกเว้นที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยข้อ 2.3 คือความรับผิดเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกไว้หลายประการ แต่ไม่มีกรณีที่ลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงรวมอยู่ด้วย จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ เพราะเมื่อไม่มีข้อยกเว้นที่จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดทั้งตามบทบัญญัติของกฎหมายและตามสัญญาประกันภัย จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามตารางกรมธรรม์

Share