คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 631/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2521) ว่าด้วยการลงนิคหกรรมที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 และมาตรา 25แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ตราไว้ในหมวด 3 วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม ข้อ 23 ว่า การพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมมี 3 ชั้นคือ (1) ชั้นต้น (2) ชั้นอุทธรณ์ (3) ชั้นฎีกา ข้อ 24 ว่า การพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้น ให้เป็นอำนาจของคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ฯลฯ ข้อ 25 ว่าการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นอุทธรณ์ ให้เป็นอำนาจของคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ ฯลฯ ข้อ 26 ว่า การพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นฎีกาให้เป็นอำนาจของมหาเถรสมาคม ข้อ 27 ว่า คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคมในกรณีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมไม่ว่าในกรณีใดให้เป็นอันถึงที่สุด และข้อ 35 ว่า ก่อนพิจารณาหรือในระหว่างพิจารณาถ้าปรากฏว่า(1) เรื่องที่นำมาฟ้องนั้น ได้มีการฟ้องร้องกันในศาลฝ่ายราชอาณาจักรให้รอการพิจารณาเรื่องนั้นไว้ก่อน ฯลฯ เมื่อ อ.เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ต่อผู้พิจารณาเรื่องความผิดพระธรรมวินัยขั้นอาบัติปฐมปาราชิก ซึ่งคดีดังกล่าวคณะผู้พิจารณาชั้นต้นคือจำเลยที่ 1 และคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์คือจำเลยที่ 2 วินิจฉัยต้องกันว่าโจทก์ได้ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยขั้นอาบัติปฐมปาราชิก มีคำสั่งให้โจทก์สึกภายใน 24 ชั่วโมงแล้ว และโจทก์ได้ยื่นฎีกาต่อคณะผู้พิจารณาชั้นฎีกาคือจำเลยที่ 3 และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของจำเลยที่ 3 แล้ว โจทก์ก็ต้องรอฟังผลของคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 เสียก่อนว่าให้ยืน ยก แก้ หรือกลับคำวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์ตามข้อ 45 ประกอบด้วยข้อ 53 ฉะนั้นเมื่อคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของจำเลยที่ 3 โจทก์จะมาด่วนฟ้องว่าคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีดังกล่าวไม่ชอบจึงขอให้เพิกถอนหาได้ไม่ และจะขอให้จำเลยที่ 3 รอการพิจารณาการลงนิคหกรรมชั้นฎีกาไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลคดีที่โจทก์ฟ้อง อ.กับพวก ที่ศาลแขวงพระนครเหนือและศาลอาญาหาได้ไม่เพราะคดีที่โจทก์ฟ้อง อ.กับพวกนั้นเป็นคนละเรื่องกันกับที่ อ.ฟ้องโจทก์ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้า

Share