แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญาซื้อขายเครื่องสูบน้ำสปริงเกอร์พร้อมท่อและอุปกรณ์ประกอบด้วยเครื่องยนต์กำลัง จำนวน 13 ชุด จากจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2เป็นผู้ออกสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้ให้แก่โจทก์ ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว เมื่อตามสัญญาซื้อขายข้อ 8 วรรคแรกระบุว่า เมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญานี้แล้ว ถ้าผู้ขายไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อ หรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้อง หรือส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวน ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ วรรคสองระบุว่า ในกรณีที่ผู้ซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกสัญญาค้ำประกันตามสัญญาข้อ 7 เป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้แล้วแต่ผู้ซื้อจะเห็นสมควร และถ้าผู้ซื้อจัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นเต็มจำนวน หรือเฉพาะจำนวนที่ขาดแล้วแต่กรณีภายใน 12 เดือน นับแต่วันที่บอกเลิกสัญญาโดยให้นับวันที่บอกเลิกสัญญาเป็นวันเริ่มต้น ผู้ขายยอมรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ด้วย ส่วนสัญญาซื้อขายข้อ 9 วรรคแรก ระบุว่า ในกรณีผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 8 ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ0.2 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องครบถ้วน ส่วนวรรคสองระบุว่าในระหว่างที่มีการปรับนั้น ถ้าผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกสัญญาค้ำประกันตามสัญญาข้อ 7 กับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 8 วรรคสองนอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาที่ไม่สามารถส่งมอบเครื่องสูบน้ำและสปริงเกอร์ที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่สัญญากำหนดไว้ให้แก่โจทก์ ทั้ง ๆ ที่โจทก์ได้ให้โอกาสจำเลยที่ 1 ส่งมอบเครื่องสูบน้ำและสปริงเกอร์ที่มีคุณสมบัติตามสัญญาแล้วโจทก์จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 ทั้งยังใช้สิทธิเรียกให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันของธนาคาร สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันเลิกกันด้วยเหตุที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกสัญญาค้ำประกันได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาซื้อขายข้อ 8 วรรคสอง หรือข้อ 9 วรรคสองแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถใช้ของได้ทันกำหนดเวลา จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับให้โจทก์เป็นรายวัน ก็เป็นเพียงการบรรยายความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ หาใช่ว่าโจทก์ต้องการเพียงให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 เฉพาะเรื่องค่าปรับเป็นรายวันแต่เพียงอย่างเดียวไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ตามสัญญาค้ำประกันซึ่งมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 2 ยอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรมอาชีวศึกษาโจทก์ เป็นเงินไม่เกิน96,525 บาท กล่าวคือ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดของสัญญาดังกล่าว ซึ่งโจทก์มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ยอมชำระเงินให้แทนทันที แสดงว่าจำนวนเงินตามหนังสือค้ำประกันเป็นหลักประกันที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระให้โจทก์ทันทีเมื่อโจทก์เรียกร้อง โดยโจทก์ไม่จำต้องพิสูจน์ความเสียหายแต่อย่างใด ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 96,525 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 8 วรรคสองหรือตามสัญญาข้อ 9 วรรคสอง เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง