คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6635/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในขณะที่จำเลยซึ่งเป็นครูอาวุโสเข้าเวรเป็นครูผู้ปกครองประจำวันมีหน้าที่ควบคุมดูแลเด็กนักเรียนถือได้ว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นศิษย์อยู่ในความดูแลของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นครูโรงเรียนวัดควนได้ข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงจิตตราหรือจิตรา อันกรูดผู้เสียหายซึ่งมีอายุไม่เกินสิบสามปี เป็นนักเรียนโรงเรียนวัดควนและเป็นศิษย์ ซึ่งอยู่ในความปกครองดูแลของจำเลยโดยจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายเข้ากอดปล้ำจนผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้จนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง โดยผู้เสียหายไม่ยินยอมขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง, 285, 50และสั่งห้ามจำเลยประกอบอาชีพครูหรือวิชาชีพครู มีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปี นับแต่วันที่จำเลยพ้นโทษไปแล้ว
จำเลยให้การปฎิเสธ
ระหว่างพิจารณานางราตรี อันกรูด มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสอง ประกอบมาตรา 285, 80 จำคุก 8 ปี และห้ามจำเลยประกอบอาชีพครูหรือวิชาชีพครูมีกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 50
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง ประกอบมาตรา 285 จำคุก12 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายเป็นเด็กนักเรียนอายุเพียง 11 ปีเศษ ยังไม่เข้าใจดีถึงการร่วมประเวณีและยังไม่มีประจำเดือน ขณะที่ถูกจำเลยผลักเข้าไปในห้องน้ำที่เกิดเหตุผู้เสียหายก็เบิกความว่า ขณะนั้นไม่รู้ว่าจำเลยจะทำอะไรกับผู้เสียหาย จึงไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือ ทั้งผู้เสียหายเป็นศิษย์อยู่ในความปกครองดูแลของจำเลยซึ่งเป็นครูที่มีอาวุโสสูงสุดในโรงเรียนวัดควน ตามปกติศิษย์ ย่อมจักมีความเคารพยำเกรงครู ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่จะปรักปรำใส่ร้ายจำเลยหากเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริง เชื่อว่าผู้เสียหายได้เบิกความไปตามความจริงและพยานโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักมั่นคง พยานจำเลยไม่อาจหักล้างพยานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในขณะที่จำเลยซึ่งเป็นครูอาวุโสเข้าเวรเป็นครูผู้ปกครองประจำวันมีหน้าที่ควบคุมดูแลเด็กนักเรียน ถือได้ว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นศิษย์ อยู่ในความดูแลของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษายืน

Share