แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีเครื่องหมายการค้าเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องวินิจฉัยไม่เพียงแต่ว่าเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจะต้องเหมือนกันทุกอย่าง แต่ต้องวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้านั้นชวนให้เห็นเป็นลักษณะทำนองเดียวกันด้วย จะชี้ขาดว่าเครื่องหมายการค้าไม่เหมือนกันโดยเอามาเทียบเคียงแล้วมีลักษณะแตกต่างกันบ้างนั้นไม่ได้ จำต้องเอามาเปรียบเทียบให้เห็นถึงลักษณะในเวลาใช้อยู่ตามปกติและใช้กันโดยสุจริตถึงประเภทสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าประจำและถึงสภาพแห่งท้องตลาดคือแยกปริมาณที่ประชาชนจะพึงซื้อ
เครื่องหมายการค้าคำว่า ORAL – B กับ D.ENTAL CAREมีความแตกต่างกันทั้งตัวอักษรและการอ่านออกเสียง จึงไม่มีลักษณะเหมือนคล้ายกันแต่ประการใด
เครื่องหมายการค้าคำว่า ORAL – B กับ DENTAL – Bมีความแตกต่างกันเพียงคำแรกคือ OR กับ DEN ส่วนสองคำหลังเหมือนกันทั้งตัวอักษรและการอ่านออกเสียง ประกอบกับเจตนาของจำเลยทั้งสองซึ่งสามารถใช้อักษรไม่ให้เหมือนกันได้เป็นจำนวนมาก แต่หาได้ใช้ไม่ จึงฟังได้ว่าตัวอักษรที่จำเลยที่ 2 ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีลักษณะคล้ายกับอักษรเครื่องหมาย-การค้าของโจทก์ถึงขนาดนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า DENTAL – B
เครื่องหมายการค้าคำว่า ORAL – B ของโจทก์ กับDENTAL – C ของจำเลยที่ 2 มีความแตกต่างกันทั้งตัวอักษรและการอ่านออกเสียงจุดเด่นที่ทั้งสองฝ่ายเน้นคืออักษรโรมันดังกล่าว ผู้ซื้อแปรงสีฟันย่อมจะเรียกขานตามยี่ห้อ หรือหากเลือกสินค้าเองก็คงจะพิจารณาจากชื่อยี่ห้อที่ปรากฏมากกว่าจะไปดูรายละเอียดอักษรบนกล่อง เครื่องหมายการค้าดังกล่าวใช้อักษรโรมันไม่กี่ตัวและอ่านออกเสียงเพียง 3 พยางค์ แปรงสีฟันของโจทก์ติดตลาดแล้วย่อมเป็นที่รู้จักดีอีกทั้งยังมีราคาสูงกว่าแปรงสีฟันของจำเลยที่ 2 นอกจากนี้จำเลยยังได้โฆษณาแปรงสีฟัน DENTAL – C ทางสื่อมวลทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ แสดงว่าจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาที่จะให้สาธารณชนหลงผิดหรือลวงขายเป็นสินค้า ORAL – B