คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10135/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการประเมินภาษีอากรไม่ชอบด้วยมาตรา49แห่งประมวลรัษฎากรเพราะมิได้รับอนุญาตจากอธิบดีนั้นแม้จะมิใช่ปัญหาที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลางแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ คดีนี้เจ้าพนักงานประเมินมิได้ใช้วิธีพิเศษกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิขึ้นเองโดยถือเงินหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรือเข้ามาอยู่ในครอบครองของผู้มีเงินได้เป็นหลักในการพิจารณาซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรตามประมวลรัษฎากรมาตรา49แต่เป็นกรณีออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและแจ้งประเมินตามวิธีปกติตามมาตรา19,20,23,24แห่งประมวลรัษฎากรจึงไม่ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร โจทก์มอบเงินจำนวน15,000,000บาทให้ด. ไปหาผลประโยชน์ร่วมกับบุคคลอื่นแล้วด. ได้นำเงินของโจทก์กับบุคคลอื่นดังกล่าวไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุนต่างๆต่อมาด. จึงได้นำเงินมาคืนให้โจทก์จำนวน16,301,946.48บาทซึ่งแม้โจทก์จะได้เงินเพิ่มขึ้นจากเดิมจำนวน1,301,946.48บาทน่าเชื่อว่าเป็นเงินดอกเบี้ยจากตั๋วเงินที่ด. นำเงินของโจทก์กับบุคคลอื่นไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินและโจทก์ก็อ้างว่าด. ได้เสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้แล้วซึ่งตามประมวลรัษฎากรมาตรา50ก็ได้บัญญัติให้บริษัทผู้จ่ายดอกเบี้ยตั๋วเงินหักภาษีณที่จ่ายไว้เมื่อด. ในฐานะผู้จัดการของคณะบุคคลที่มอบหมายให้นำเงินไปหาผลประโยชน์ได้เสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้แล้วโจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้อีกตามประมวลรัษฎากรมาตรา6,42(14)และ56วรรคสุดท้าย เช็คของขวัญที่โจทก์ได้รับในปี2533จำนวน46ฉบับรวมเป็นเงิน83,102,500บาทนั้นโจทก์นำสืบว่าบริษัทส. จำกัดมอบให้โจทก์เป็นค่าซื้อที่ดินโดยบริษัทส. รับเช็คของขวัญดังกล่าวมาจากลูกค้าของบริษัทอีกต่อหนึ่งเช่นนี้แม้บริษัทส. จะได้ซื้อที่ดินจากโจทก์เป็นเงินถึง85,000,000บาทเศษดังที่โจทก์นำสืบจริงก็ไม่มีเหตุผลใดที่บริษัทส. จะต้องชำระค่าที่ดินให้โจทก์โดยใช้เช็คแบ่งย่อยออกเป็นหลายฉบับโดยเฉพาะเป็นเช็คของขวัญที่มิใช่เช็คของบริษัทเองหรือแคชเชียร์เช็คซึ่งน่าจะใช้เป็นหลักฐานในการชำระเงินได้ดีกว่าดังนี้เมื่อพยานหลักฐานโจทก์พิรุธไร้น้ำหนักไม่น่าเชื่อการที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถือว่าเงินตามเช็คดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา40(8)ของโจทก์จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้า หากเห็นว่าโจทก์ต้องชำระภาษีเงินได้เพิ่มเติมก็ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเจ้าพนักงานประเมินตามแบบ ภ.ง.ด.12ที่ 1770/1/100412, ที่ 1770/1/100413, ที่ 1770/1/100414,ที่ 1770/1/100415 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2536 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 319ข/2537/1, เลขที่ 319ค/2537/1เลขที่ 319ง/2537/1, เลขที่ 319จ/2537/1 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2537เฉพาะในส่วนที่ประเมินและวินิจฉัยว่าเงินที่โจทก์ได้รับจากนายเดช บุญหลง จำนวน 5 ครั้ง รวม 16,301,946.48 บาทเงินที่ได้รับเป็นเช็คของขวัญจำนวน 46 ฉบับ รวม 83,106,500 บาทและเงินที่ได้รับจากพลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ จำนวน 1,000,000 บาทเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีคำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ และ จำเลย ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และ ที่ 5 อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาตามอุทธรณ์โจทก์มีว่า เงินที่โจทก์ได้รับจากนายวิจิตร ชวนะนันท์ ในปี 2532จำนวน 10,000,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางว่าเงินดังกล่าวนายวิจิตรกู้ยืมไปจากภริยาโจทก์แล้วนำมาชำระคืนแก่โจทก์ การที่โจทก์มิได้นำภริยาโจทก์มาเบิกความในฐานะเจ้าของเงินที่ให้กู้ยืม ก็ไม่ทำให้คำเบิกความของโจทก์และนางสราญรับฟังไม่ได้ว่านายวิจิตรได้กู้ยืมเงินจากภริยาโจทก์และใช้คืนมาจริง เพราะทั้งโจทก์และนางสราญเป็นประจักษ์พยานรู้เรื่องทั้งหมดด้วยตนเอง คำเบิกความของโจทก์และนางสราญย่อมมีน้ำหนัก นอกจากนั้นโจทก์ยังมีนายพิษณุบุตรชายนายวิจิตรเบิกความสนับสนุนว่านายวิจิตรเคยกู้ยืมเงินภริยาโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าเงินจำนวน10,000,000 บาท ที่โจทก์ได้รับในปี 2532 เป็นเงินที่นายวิจิตรใช้คืนโจทก์ไม่ใช่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)แห่งประมวลรัษฎากร นั้น เห็นว่า แม้พยานโจทก์ทั้งสามปากจะเบิกความสอดคล้องกันก็เป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่มีน้ำหนักสนับสนุนคำเบิกความดังกล่าว อีกทั้งหลักฐานการกู้ยืมก็ไม่มี ตัวเงินที่ให้กู้ยืมนำมาจากแหล่งใดก็ไม่ปรากฏ การกู้ยืมเงินจำนวนมากโดยปราศจากหลักฐานหลักประกันเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล ที่ศาลภาษีอากรกลางตำหนิพยานหลักฐานโจทก์และไม่เชื่อพยานที่โจทก์นำสืบชอบแล้ว
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การประเมินภาษีอากรไม่ชอบด้วยมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะมิได้รับอนุมัติจากอธิบดีนั้นแม้จะมิใช่ปัญหาที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลาง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ เห็นว่าคดีนี้เจ้าพนักงานประเมินมิได้ใช้วิธีพิเศษกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิขึ้นเองโดยถือเงินหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรือเข้ามาอยู่ในครอบครองของผู้มีเงินได้เป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีตามบทบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด แต่เป็นกรณีออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและแจ้งประเมินตามวิธีปกติตามมาตรา 19, 20, 23, 24แห่งประมวลรัษฎากร
ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์ในปัญหาแรกว่า เงินที่โจทก์ได้รับระหว่างปี 2532 ถึงปี 2534 รวมเป็นเงิน16,301,946.48 บาท จากนายเดช บุญหลง เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ใช่เงินใช้คืนจากการที่โจทก์มอบให้นายเดชนำไปหาผลประโยชน์ให้ เพราะโจทก์ไม่มีหลักฐานการมอบเงินให้นายเดชไปหาผลประโยชน์ ทั้งการที่นายเดชคืนเงินโจทก์ นายเดชสามารถออกเช็คมอบให้โจทก์ได้โดยตรง ไม่จำต้องให้นางสาวอุไรและนางสาวนันทิยาไปซื้อแคชเชียร์เช็คเพื่อมอบให้โจทก์ โจทก์ไม่จำเป็นต้องให้นายเดชหาผลประโยชน์ให้ เพราะโจทก์สามารถหาผลประโยชน์ได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว เงินที่โจทก์ได้รับจากนายเดชเป็นเงินแบ่งสรรผลประโยชน์ระหว่างผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทอุตสาหกรรมทอผ้าไทย จำกัดบริษัทที.ที.แอล.อุตสาหกรรม จำกัด ทั้งโจทก์และนายเดชต่างเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทดังกล่าว โดยนายเดชเป็นประธานกรรมการมีอำนาจลงนามร่วมกับกรรมการอีกคนหนึ่งทำการแทนบริษัทดังกล่าวได้นางสาวอุไรและนางสาวนันทิยาผู้ซื้อแคชเชียร์เช็คต่างเป็นพนักงานของบริษัทอุตสาหกรรมทอผ้าไทย จำกัด เงินได้ของโจทก์จำนวนนี้จึงเป็นเงินได้พึงประเมินที่โจทก์ต้องชำระภาษีอากรให้จำเลยที่ 1 เห็นว่า แม้การมอบเงินของโจทก์ให้นายเดชไปหาผลประโยชน์ดังที่โจทก์นำสืบจะปราศจากพยานหลักฐานการมอบเงินแต่โจทก์ก็นำนายเดชผู้รับมอบมาเบิกความสนับสนุน ที่โจทก์อ้างเหตุความไว้เนื้อเชื่อใจนายเดชก็มีน้ำหนักรับฟังได้ เห็นได้จากการที่โจทก์สละตำแหน่งในบริษัทการค้าต่าง ๆ ให้นายเดชดำรงตำแหน่งแทนเมื่อโจทก์ต้องไปเล่นการเมือง ที่จำเลยที่ 1 ที่ 3ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์ว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินเนื่องจากการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างผู้ถือหุ้นบริษัทนั้น เห็นว่าข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ปราศจากหลักฐานที่มีน้ำหนักสนับสนุนส่วนการที่นายเดชให้นางสาวอุไรและนางสาวนันทยาไปซื้อแคชเชียร์เช็คมอบให้โจทก์แทนที่จะออกเช็คของตนมอบให้ก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่จะรับฟังเสมอไปว่าเงินที่โจทก์ได้รับเป็นเงินแบ่งผลประโยชน์ระหว่างผู้ถือหุ้นบริษัทแต่อย่างใดจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คาดเดาเหตุการณ์เอาเองข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์มอบเงินจำนวน15,000,000 บาท ให้นายเดชไปหาผลประโยชน์ร่วมกับบุคคลอื่นแล้วนายเดชได้นำเงินของโจทก์กับบุคคลอื่นดังกล่าวไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัทเงินทุนต่าง ๆ ต่อมานายเดชจึงได้นำเงินมาคืนให้โจทก์จำนวน 16,301,946.48 บาท ซึ่งแม้โจทก์จะได้เงินเพิ่มขึ้นจากเดิมจำนวน 1,301,946.48 บาท ก็น่าเชื่อว่าเป็นเงินดอกเบี้ยจากตั๋วเงินที่นายเดชนำเงินของโจทก์กับบุคคลอื่นไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน และโจทก์ก็อ้างว่านายเดชได้เสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้แล้ว ซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50ก็ได้บัญญัติให้บริษัทผู้จ่ายดอกเบี้ยตั๋วเงินหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้จึงน่าเชื่อว่านายเดชในฐานะผู้จัดการของคณะบุคคลที่มอบหมายให้นำเงินไปหาผลประโยชน์ได้เสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้แล้วโจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้อีก ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 6 มาตรา 42(14) และมาตรา 56 วรรคสุดท้าย
ปัญหาตามอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ต่อไปมีว่า เช็คของขวัญที่โจทก์ได้รับในปี 2533 จำนวน 46 ฉบับรวมเป็นเงิน 83,102,500 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ เช็คของขวัญจำนวนนี้โจทก์นำสืบว่าบริษัทสหมิตรการบริหาร จำกัด มอบให้โจทก์เป็นค่าซื้อที่ดินโดยบริษัทสหมิตรการบริหาร จำกัด รับเช็คของขวัญดังกล่าวมาจากลูกค้าของบริษัทอีกต่อหนึ่ง พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าแม้บริษัทสหมิตรการบริหาร จำกัด จะได้ซื้อที่ดินจากโจทก์เป็นเงินถึง 85,000 บาทเศษ ดังที่โจทก์นำสืบจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่บริษัทสหมิตรการบริหาร จำกัด จะต้องชำระค่าที่ดินให้โจทก์โดยใช้เช็คแบ่งย่อยออกเป็นหลายฉบับ โดยเฉพาะเป็นเช็คของขวัญที่มิใช่เช็คของบริษัทเองหรือแคชเชียร์เช็ค ซึ่งน่าจะใช้เป็นหลักฐานในการชำระเงินได้ดีกว่า พยานหลักฐานโจทก์จึงมีพิรุธไร้น้ำหนักไม่น่าเชื่อ การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถือว่าเงินตามเช็คดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8) โจทก์ต้องเสียภาษีอากรจึงชอบแล้ว
สำหรับอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ปัญหาสุดท้ายที่ว่า เงินจำนวน 1,000,000 บาท ที่พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์มอบให้โจทก์ในปี 2534 เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5อุทธรณ์ว่า คำเบิกความของโจทก์และพลอากาศเอกสมบุญเกี่ยวกับหุ้นที่โจทก์ซื้อในนามพลอากาศเอกสมบุญแตกต่างกันเป็นพิรุธรับฟังไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำเบิกความของโจทก์และพลอากาศเอกสมบุญแตกต่างกันเฉพาะในรายละเอียดราคาค่าหุ้นเท่านั้น คำเบิกความที่แตกต่างกันดังกล่าวไม่ถึงขนาดจะรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ซื้อหุ้นในนามพลอากาศเอกสมบุญจริง อีกทั้งโจทก์ก็ได้รับเช็คจำนวนเงิน 1,000,000 บาท มาจากพลอากาศเอกสมบุญจริง พลอากาศเอกสมบุญก็ยืนยันว่าเป็นการชำระค่าหุ้นที่ซื้อจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ไม่มีพยานหลักฐานนำสืบหักล้างที่จะทำให้รับฟังเป็นอื่นได้ พยานหลักฐานที่โจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าเงินได้จำนวนนี้ไม่ใช่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากรชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์สำหรับเงินที่โจทก์ได้รับเป็นเช็คของขวัญจำนวน 46 ฉบับ จำนวนเงิน 83,102,500 บาท ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share