คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6883/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526มาตรา 16 ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาคดีโดยอนุโลมด้วย การพิจารณาคำร้องขอเลื่อนคดีจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 40 แห่ง ป.วิ.พ. ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15ว่ามีเหตุจำเป็นและสมควรอนุญาตให้เลื่อนคดีหรือไม่
ในวันนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง ทนายความของผู้ร้องมอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าผู้ร้องป่วยไม่สามารถมาศาลได้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วอนุญาต แต่เมื่อถึงวันนัดที่เลื่อนไป ทนายความของผู้ร้องมอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดี อ้างเหตุว่าผู้ร้องป่วยไม่สามารถเดินได้และระบุในคำร้องว่าหากนัดต่อไปผู้ร้องยังมีอาการป่วยมาศาลไม่ได้ก็จะขอถอนคำร้องศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนไปนัดไต่สวนคำร้องและกำชับให้ผู้ร้องนำพยานมาสืบในนัดหน้า แต่เมื่อถึงวันนัดทนายความของผู้ร้องกลับยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีก อ้างว่าผู้ร้องป่วยเนื่องจากกระดูกต้นคองอกทับเส้นประสาทพึ่งได้รับการผ่าตัด มีอาการมึนงงไม่สามารถตอบคำถามได้และไม่สามารถลุกนั่งได้ด้วยตนเอง และรับรองว่าหากนัดต่อไปผู้ร้องยังไม่สามารถมาศาลได้ ขอให้ถือว่าผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบและยกคำร้องของผู้ร้องเสีย ศาลชั้นต้นอนุญาต เมื่อรวมระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีเป็นเวลาถึง 6 เดือนเศษ การที่ผู้ร้องกลับยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุผลอย่างเดิมอีกพฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องมิได้ให้ความสนใจต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล จึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลื่อนคดีตามที่ร้องขอ
กระบวนพิจารณาในชั้นไต่สวนคำร้องของผู้ร้องว่ามีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่ พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526มาตรา 9 วรรคสาม บัญญัติไว้ชัดเจนว่า เมื่อได้ไต่สวนคำร้องแล้ว ให้ศาลที่ไต่สวนคำร้องส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์โดยไม่ชักช้า ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจวินิจฉัยคำร้องของผู้ร้องได้
พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ฯ มาตรา 13 (2)ใช้บังคับสำหรับในชั้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ บทบัญญัติดังกล่าวหาได้นำมาใช้ในชั้นไต่สวนคำร้องว่าคดีมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ด้วยไม่

Share