แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีฉบับพิพาทระบุว่า เมื่อถึงกำหนด 12 เดือนตามข้อ 1 (คือวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533) และไม่มีการต่ออายุการเบิกเงินเกินบัญชีเป็นหลักฐานหนังสือกำหนดเวลากันใหม่ ผู้เบิกเงินเกินบัญชีและธนาคารตกลงกันให้มีการเบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญานี้ต่ออีกคราวละ 6 เดือน ตลอดไป หมายความเพียงว่าหลังจากครบกำหนดชำระหนี้ตามข้อ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงเบิกเงินจากโจทก์ต่อไปโดยไม่มีการต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นหนังสือจึงจะเป็นการตกลงให้มีการเบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกคราวละ 6 เดือน หาใช่ว่าเมื่อครบกำหนดชำระหนี้ตามข้อ 1แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้เบิกเงินจากโจทก์อีกต่อไป จะเป็นการตกลงให้มีการเบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกคราวละ 6 เดือน ตลอดไปไม่ ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการต่อสัญญาเป็นหนังสือกันต่อไป และไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่านับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินจากบัญชีหรือโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไป ทั้งไม่ปรากฏว่านับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินจากโจทก์อีก การที่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีหลายครั้งภายหลังจากครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้วก็เป็นการนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้เท่านั้นไม่ใช่เพื่อให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไปเพราะไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกัน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดย่อมเลิกกันและสิ้นสุดลงในวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีคือวันที่ 13 พฤศจิกายน2533 ซึ่งมีผลให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ได้ถึงวันสิ้นสุดสัญญาเท่านั้น
ผู้เบิกเงินเกินบัญชีตกลงให้ดอกเบี้ยแก่ธนาคารสำหรับจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีทบต้นตามประเพณีธนาคารพาณิชย์ซึ่งธนาคารจะคำนวณและลงบัญชีตามวิธีการของธนาคารพาณิชย์ทุกเดือน และโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นทุกวันสิ้นเดือนเป็นรายเดือน ดังนั้นดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน2533 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญานั้นยังไม่ถึง 1 เดือน ตามสัญญาและประเพณีที่โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้น โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้ คิดได้แต่เพียงดอกเบี้ยไม่ทบต้น และหลังจากสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดแล้วโจทก์คิดดอกเบี้ยได้แบบไม่ทบต้น โจทก์คิดดอกเบี้ยในเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2533 ในอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปีดังนั้นนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 แบบไม่ทบต้นได้ในอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี เมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1สิ้นสุดลงในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 แล้วโจทก์ก็ชอบที่จะหักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยชำระหนี้โจทก์ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2533การที่โจทก์ยังคงคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนจากจำเลยที่ 1 โดยไม่มีสิทธิตลอดมาทำให้ยอดหนี้ค้างชำระของจำเลยที่ 1 ตามที่ปรากฏในบัญชีกระแสรายวันสูงขึ้น จนเวลาให้ล่วงเลยมาจนครบ 1 ปี จึงนำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 เข้าหักทอนบัญชีจึงไม่ถูกต้อง ดังนั้น เมื่อปรากฏรายการเพียงวันที่ 31 ตุลาคม 2533 ว่า จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์ 1,100,010.68 บาท จึงให้ถือยอดเงินดังกล่าวเป็นต้นเงินสำหรับคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 ไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเงินแก่โจทก์เสร็จ โดยให้นำเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 14 พฤศจิกายน2533 และให้หักเงินที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีนับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2533เป็นต้นไปออกจากยอดเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระโดยหักออกชดใช้เป็นค่าดอกเบี้ยไม่ทบต้นก่อน ที่เหลือให้หักชำระต้นเงินทุกครั้งที่มีการนำเงินเข้าบัญชี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกับ