แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยกระทำความผิด 2 กรรม โจทก์ฟ้องเป็น 2 สำนวนเมื่อจะเป็นการสะดวกหากพิจารณารวมกัน ศาลชั้นต้นย่อมสั่งให้พิจารณารวมกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 28การพิพากษาความผิดของจำเลยจะต้องพิพากษาทุกกรรม ส่วนวิธีการลงโทษต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่จำเลยมีอายุไม่เกิน 17 ปี และศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่สมควรพิพากษาลงโทษ จึงพิพากษาให้ส่งตัวไปรับการฝึกอบรมยังสถานพินิจฯ ดังนี้ ไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา 91 เพราะไม่ใช่การลงโทษ จึงรวมกำหนดระยะเวลาการส่งตัวไปรับการฝึกอบรมทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกันได้ ไม่จำต้องกำหนดว่าสำนวนละเท่าใด
ย่อยาว
คดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 835/2514 ของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองซึ่งมีอายุ 16 ปีและ14 ปีตามลำดับ ฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร และขอให้นับโทษติดต่อกันจำเลยให้การรับสารภาพทั้งสองสำนวน ข้อเท็จจริงสำหรับคดีนี้ฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2514 เวลากลางวัน จำเลยได้ร่วมกันลักไก่ 1 ตัวของนายอำนาจ อำไพ ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 835/2514 ฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2514 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยได้ร่วมกันลักไก่ 4 ตัวของนายจู อาศัยบุญ เหตุทั้งสองคดีเกิดที่ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศาลชั้นต้นได้สั่งรวมพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 83 ให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไปรับการฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก จังหวัดสงขลา คนละ 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะคดีนี้คดีเดียวว่า จำเลยกระทำความผิด 2 กระทงโจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็น 2 สำนวน การที่ศาลชั้นต้นรวมฟ้องของโจทก์เข้าด้วยกันเป็นฟ้องเดียวเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 เมื่อจำเลยกระทำความผิดโดยไม่มีการยกเว้นโทษ ก็ต้องพิพากษาลงโทษจำเลยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรค 2 การที่ศาลชั้นต้นไม่พิพากษาลงโทษจำเลยเป็นสองสำนวนแล้วรวมโทษเข้าด้วยกัน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองสำนวนแล้วรวมโทษเข้าด้วยกัน
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นไม่ได้รวมฟ้องของโจทก์เข้าด้วยกัน แต่เป็นการรวมการพิจารณา ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจทำได้การพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายแล้วคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นการพิพากษาว่าจำเลยทำความผิดตามฟ้องทั้งสองสำนวน ไม่จำเป็นต้องระบุโทษแต่ละสำนวนว่าเท่าใด พิพากษายืน
โจทก์ฎีกามีข้อความเช่นเดียวกับอุทธรณ์
ศาลฎีกาเห็นว่า มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดสองกรรม โจทก์ฟ้องเป็นสองสำนวน ศาลชั้นต้นสั่งรวมการพิจารณาสำนวนทั้งสองเข้าด้วยกันแล้วพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 83ให้ส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดสงขลามีกำหนดคนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 โดยไม่ได้กำหนดเวลาให้ส่งไปฝึกอบรมเป็นรายสำนวนเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์และจำเลยสองสำนวนนี้เป็นคู่ความรายเดียวกัน จะเป็นการสะดวกหากพิจารณารวมกัน ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้พิจารณารวมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 28 การพิพากษาความผิดของจำเลยจะต้องพิพากษาทุกกรรม ส่วนวิธีการลงโทษต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น เป็นการพิพากษาความผิดของจำเลยกรรมเดียว ไม่ชอบ แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดสงขลา ไม่ใช่เป็นการลงโทษตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18เป็นกรณีศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่สมควรพิพากษาลงโทษจำเลย ให้จัดการตามมาตรา 74 ไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา 91 ซึ่งใช้เฉพาะการลงโทษเท่านั้น ศาลชั้นต้นจึงรวมกำหนดระยะเวลาการส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกอบรมทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกันได้ โดยไม่ต้องกำหนดว่าส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกอบรมสำนวนละเท่าใด
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ว่าจำเลยแต่ละสำนวนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์