แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ซึ่งเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้แต่เมื่อเป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ ซึ่งหากศาลพิพากษาให้เพิกถอน น.ส.3 ก.พิพาท ตามคำขอของโจทก์ ก็ย่อมเป็นผลต่อเนื่องในเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน อันเป็นการให้แสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั่นเอง จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ปรากฎว่าโจทก์ซื้อที่ดินจาก บ.เนื้อที่4 ไร่ 3 งาน 59 ตารางวา ในราคา 10,000 บาท และจำเลยที่ 1 ขอออกน.ส.3 ก. ทับที่ดินของโจทก์เพียงบางส่วน และจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1เนื้อที่ 3 ไร่ 55 ตารางวา ในราคา 60,000 บาท จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 เนื้อที่ 3 งาน 88 ตารางวา ในราคา 20,000 บาท โจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินมาจากจำเลยที่ 1 เพียงประมาณ 1 ปี ราคาของที่ดินจึงไม่น่าจะต่างกันมากนัก ที่ดินเฉพาะในส่วนที่พิพาทกันมีเนื้อที่เป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับทั้งแปลง ราคาของที่ดินพิพาทซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ของคดีนี้ย่อมไม่เกิน 50,000 บาทจึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 224 วรรคหนึ่ง