คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5552/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิมและขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกามีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การในชั้นฎีกา เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ.มาตรา 163 วรรคสอง ที่บัญญัติให้กระทำได้ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาส่วนที่จำเลยขอให้รอการลงโทษก็เป็นดุลพินิจที่ศาลจะสั่งในคำพิพากษาต่อไป ศาลฎีกาจึงให้ยกคำร้องนี้
ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน จำเลยทราบดีว่าที่ดินของจำเลยตามโฉนดที่ดินมีเพียง 2 ไร่ โดยด้านทิศตะวันออกจดภูเขา ด้านทิศเหนือจดถนนสาธารณประโยชน์และภูเขาตามที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดินดังกล่าว ขณะเจ้าหน้าที่บริหารที่ดินอำเภอไปตรวจสอบที่ดินที่เกิดเหตุตามคำสั่งของนายอำเภอพบมีการบุกรุกไถภูเขาซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือและด้านทิศตะวันออกและตามบันทึกที่โจทก์และจำเลยนำรังวัดที่ดินตามคำสั่งศาลชั้นต้น ปรากฏว่าจำเลยนำชี้ที่ดินของจำเลยเพียง 3 ด้าน โดยจำเลยทราบดีว่าหากจำเลยนำชี้ที่ดินของจำเลยทั้งสี่ด้าน ที่ดินของจำเลยจะมีเนื้อที่มากกว่าที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดินของจำเลยนอกจากนี้หลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า จำเลยบุกรุกที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว ทางอำเภอแจ้งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินที่เกิดเหตุจำเลยทราบแล้วไม่ยอมรื้อถอนและไม่ยอมออกไป พฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าจำเลยมีเจตนาบุกรุกที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
เมื่อจำเลยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินการที่จำเลยไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินที่พิพาทตามคำสั่งของนายอำเภอซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฏหมายให้ไว้ แม้จำเลยจะอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยก็ไม่ใช่เหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควรที่จะทำให้จำเลยพ้นจากความผิดฐานบุกรุกที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.อ.มาตรา 368

Share