คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5493/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ว่า โจทก์ลาออกจากการเป็นพนักงานของบริษัทจำเลยที่ 1 เอง จำเลยทั้งห้ามิได้เลิกจ้างโจทก์นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่รับฟังว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่ใช่เป็นกรณีโจทก์ลาออกเอง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามสัญญา จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนค่าเสียหายเกี่ยวกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายแก่โจทก์เพราะจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งห้าเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหายซึ่งได้แก่ค่าเสียหายต่าง ๆ ที่โจทก์ระบุมาในฟ้อง ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งห้าเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จำเลยจึงต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์การคำนวณค่าเสียหายในส่วนนี้เพียงอาศัยสัญญาจ้างตามที่ระบุไว้ในเอกสารหมายจ.2 ข้อ 4 เป็นฐานในการคิดเท่านั้น มิใช่เป็นการพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายในส่วนนี้ตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างดังกล่าว ฉะนั้น อุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าที่อ้างว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายในส่วนนี้ตามสัญญาจ้างจึงไม่ใช่เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่จะอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 223 ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลในฐานะนายจ้าง แม้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 จะระบุให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีฐานะเป็นนายจ้างด้วยก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ได้กระทำการใด ๆ อันเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ก็เป็นเพียงผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการเท่านั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวหรือร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์
เมื่อตามเอกสารระบุถึงการจ่ายเงินเดือนแก่โจทก์หลังจากเลิกจ้างแล้วอีก 3 เดือน โดยไม่ปรากฏว่าเป็นเงินประเภทใด แต่การจ่ายเงินในอัตราดังกล่าวเป็นลักษณะของการจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 (2) เพราะโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเป็นเวลาปีเศษ แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย90 วัน หรือ 3 เดือน ซึ่งเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์ การที่ศาลแรงงานนำข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวที่ว่าโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยหลังจากเลิกจ้างแล้วดังกล่าวไปหักออกจากความรับผิดที่จำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเงินที่โจทก์ได้รับหลังจากเลิกจ้างแล้วนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดในการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ
เมื่อปรากฏว่าศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 กันยายน 2539 นั้น เป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

Share