คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4305/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 5400 มี ส.และ อ.เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาโจทก์ และ ร. กับพวกได้ซื้อในส่วนของ อ.โดยจดทะเบียนลงชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธ์รวมในโฉนดกับพวก แต่มิได้มีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินต่อมา ร.ได้ฟ้องเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมขอให้แบ่งแยกโฉนด แล้วมีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้พิพากษาตามยอมให้แบ่งที่ดินดังกล่าวเป็น3 แปลง คือแปลงโฉนดเลขที่ 94774, 94775 และ 5400 โดยไม่มีการตกลงให้กันส่วนเป็นถนนให้แต่ละแปลงออกสู่ถนนสาธารณะ ต่อมาได้มีการจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นเหตุให้ที่ดินแปลงโฉนดเลขที่94775 และ 5400 ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม และเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางบนที่ดินแปลงที่แบ่งแยกไปโดยมีทางออกสู่ถนนสาธารณะโดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1350 เมื่อทางพิพาทอยู่บนที่ดินของจำเลยตามโฉนดที่ดินเลขที่ 94774ทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินของโจทก์
ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1349 วรรคสาม นั้น ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ เมื่อปรากฏว่าสภาพถนนลูกรังที่มีและใช้อยู่ในขณะพิพาทขนาดกว้าง 5 เมตร ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าทางพิพาทกว้างประมาณ 5 เมตรพอควรแก่ความจำเป็นของโจทก์แล้ว หาจำต้องมีไหล่ทางข้างละ 1 เมตรไม่
เมื่อโจทก์มีสิทธิใช้ทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยโดยอำนาจของกฎหมายแล้ว จำเลยก็ไม่จำต้องไปจดทะเบียนทางจำเป็นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
แม้ทางพิพาทจะตกเป็นทางจำเป็นตามกฎหมาย แต่กรรมสิทธิ์ที่จะครอบครองดูแลทางพิพาทก็ยังเป็นของจำเลย การที่มีผู้นำดินลูกรังมากองในทางพิพาท แม้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1349 วรรคสาม บัญญัติให้สิทธิผู้มีสิทธิจะผ่านทางถ้าจำเป็นสามารถสร้างถนนผ่านทางได้ โดยจำเลยไม่มีสิทธิขัดขวางการปรับปรุงบำรุงรักษาทางพิพาทนั้น ก็ตาม แต่กฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติถึงวิธีทำทางผ่านจะต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็น ทั้งต้องคำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดด้วย ดังนั้น การนำดินลูกรังมากองในทางพิพาทเป็นจำนวนมากพอสมควรโดยมิได้บอกกล่าวให้จำเลยทราบ อาจมีการฉวยโอกาสเกลี่ยดินลูกรังขยายทับหน้าดินริมทางเพื่อให้สภาพผิวถนนลูกรังกว้างขึ้น จำเลยจึงมีสิทธิขัดขวางได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1336 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

Share