คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 297/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 ข้อ 37กำหนดว่า ในกรณีที่พนักงานประจำมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานตามความในข้อ 23 และ 24 และเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชย ให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนเงินชดเชย แต่ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับแต่เงินชดเชยอย่างเดียว และตามบันทึกข้อตกลง ฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2524 ข้อ 3.1กำหนดว่า การจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปี บริษัทตกลงจ่ายแก่ผู้ขอรับให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม ของปีทำงานนั้น ๆ ส่วนลูกจ้างที่ไม่ประสงค์จะรับเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปี คงให้ปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัญญาเช่า จึงเป็นได้ว่าตามข้อกำหนดของคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายเงินชดเชยในขณะที่ออกคำสั่งนั้นซึ่งหมายถึงค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่ประกาศใช้ในเวลาต่อมาและยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันให้แก่พนักงานหรือคนงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานแต่เพียงอย่างเดียว หาได้ประสงค์ให้มีสิทธิได้รับเงินเต็มจำนวนทั้งสองประเภทไม่ ดังนั้นในกรณีที่พนักงานหรือคนงานมีสิทธิได้รับทั้งค่าชดเชยมากกว่าค่าชดเชย ก็ให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนค่าชดเชย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยให้แล้วเช่นกัน เพียงแต่มีการจ่ายรวมกันไปกับเงินบำเหน็จเท่านั้น และในกรณีที่เงินบำเหน็จมีจำนวนน้อยกว่าค่าชดเชยก็ให้ได้รับแต่ค่าชดเชยเพียงอย่างเดียวที่พนักงานหรือคนงานมีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว การจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนดังกล่าวเป็นการจ่ายค่าชดเชยรวมไปด้วย และมิใช่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิในการรับค่าชดเชยของพนักงานหรือคนงานตามกฎหมาย จึงถือว่าเงินบำเหน็จตัดตอนที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งสิบสามก็คือเงินบำเหน็จตามคำสั่งที่124/2501 ข้อ 37 นั่นเอง เพียงแต่จำเลยและลูกจ้างได้ตกลงเปลี่ยนแปลงระยะเวลาในการจ่ายเงินบำเหน็จจากการจ่ายครั้งเดียวมาเป็นจ่ายเป็นรายปี และไม่ถือว่าเงินบำเหน็จตัดตอนที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งสิบสามไปแล้วเป็นเงินประเภทอื่น และเมื่อคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501ดังกล่าวเพียงแต่ออกมาเพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.แรงงาน พ.ศ.2499ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และไม่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 และหาเป็นผลให้เป็นการยกเลิกคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 เกี่ยวกับค่าชดเชยโดยเฉพาะข้อ 37 ไม่ ดังนั้นการที่จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างรวมไปกับเงินบำเหน็จจึงไม่เป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายคุ้มครอง-แรงงานและไม่ตกเป็นโมฆะเมื่อเงินบำเหน็จที่โจทก์แต่ละคนได้รับไปแล้วมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยที่โจทก์ทั้งสิบสามมีสิทธิได้รับ โจทก์ทั้งสิบสามจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยอีก

Share