แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95 ซึ่งนำมาใช้ในการพิจารณาคดีอาญาโดยอาศัยมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นแม้จะบัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลใด เว้นแต่บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ได้เห็นได้ยินหรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรงก็ตามแต่มีข้อยกเว้นต่อไปว่าความในข้อนี้ให้ใช้ได้ต่อเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยชัดแจ้งหรือคำสั่งของศาลว่าให้เป็นอย่างอื่นจึงมิได้ห้ามโดยเด็ดขาดมิให้รับฟังพยานบอกเล่าเสียทีเดียวฉะนั้นคำให้การชั้นสอบสวนของพยานที่กล่าวถึง ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผลยิ่งกว่าคำให้การในชั้นศาล ศาลย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทงต่างกรรมต่างวาระกัน คือ (ก) จำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงนายสันติหรือกิมเหลียง แซ่อื้อ หลายนัดกระสุนถูกที่บริเวณศีรษะทะลุกะโหลกศีรษะ คอ อกด้านซ้ายและด้านขวา ทะลุปอดและหัวใจ เป็นเหตุให้นายสันติหรือกิมเหลียง แซ่อื้อ ถึงแก่ความตาย โดยจำเลยมีเจตนาฆ่านายสันติหรือกิมเหลียง แซ่อื้อ ได้ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย (ข) จำเลยได้มีและใช้อาวุธปืนขนาด .๒๒ จำนวน ๑ กระบอดใช้ยิงได้ ไม่มีหมายเลขทะเบียนพร้อมเครื่องกระสุนปืนจำนวนไม่ปรากฏชัดไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายและจำเลยได้ใช้อาวุธปืนดังกล่าว กระทำความผิดในข้อ (ก) ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘, ๙๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๗, ๗๒
นางเล็ง แซ่อื้อ บิดาของนายสันติหรือกิมเหลียง แซ่อื้อ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยเอาปืนของนายอติเทพ ภวนะเจริญสุข ซึ่งอยู่ในบ้านเดียวกันมายิงผู้ตาย ไม่มีความผิดข้อหาครอบครองอาวุธปืน พิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ จำคุก ๑๕ ปี จำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวน ลดโทษให้หนึ่งในสาม จำคุก ๑๐ ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๕ซึ่งนำมาใช้ในการพิจารณาคดีอาญาโดยอาศัยมาตรา ๑๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น แม้จะบัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลใดเว้นแต่บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรงก็ตาม แต่มีข้อยกเว้นต่อไปว่า ความในข้อนี้ให้ใช้ได้ต่อเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยชัดแจ้งหรือคำสั่งของศาลว่าให้เป็นอย่างอื่น จึงมิได้ห้ามโดยเด็ดขาดมิให้รับฟังพยานบอกเล่าเสียทีเดียวประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๖ บัญญัติว่าพยานวัตถุพยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ และมาตรา ๒๒๗ วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง ฉะนั้นคำให้การชั้นสอบสวนของพยานที่กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผลยิ่งกว่าคำให้การในชั้นศาล ศาลย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นลงโทษจำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน