คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7328/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยเพิ่มในกรณีลูกหนี้ผิดนัดนั้นเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในรูปของดอกเบี้ยที่คิดเพิ่มขึ้นจากเดิม ดอกเบี้ยที่คิดเพิ่มขึ้นนี้จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 ซึ่งถ้าสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 แต่ที่ศาลอุทธรณ์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปียังไม่ถูกต้อง เพราะตามสัญญามีข้อตกลงจะชำระดอกเบี้ยตามปกติโดยไม่ผิดนัดในอัตราร้อยละ 14 และ 13.75 ต่อปีและถ้าผิดนัดจึงจะคิดเพิ่มขึ้นจากนี้ ดังนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับเฉพาะส่วนที่เกินจากร้อยละ 14 และ 13.75 ต่อปี การลดลงจึงลดลงได้ต่ำสุดในอัตราร้อยละ 14 และ 13.75 ต่อปีจะลดลงให้ต่ำกว่านี้ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 523,757.15 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 398,500บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองหากไม่พอชำระให้บังคับคดีจากทรัพย์สินอื่นจนครบ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 453,898.27 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 398,500 บาทนับแต่วันที่ 28 มีนาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระให้บังคับจำนอง ถ้าไม่พอให้บังคับคดีจากทรัพย์สินอื่น
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยทำสัญญาขายลดเช็คแก่โจทก์จำนวน 4 ครั้งเมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระเงินโจทก์ดำเนินการเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยในยอดเงินตามเช็คแต่ละฉบับนับตั้งแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามรายการคิดดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัด ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ตามสัญญาขายลดเช็คที่กำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยเมื่อมีการผิดนัดนั้นเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยเมื่อมีการผิดนัดตามสัญญาขายลดเช็คเอกสารหมาย จ.2,จ.7, จ.10 และ จ.13 มิใช่เบี้ยปรับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพราะเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 คือสัญญาซึ่งลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควรนั้นเห็นว่า ข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยเพิ่มในกรณีลูกหนี้ผิดนัดนั้นเห็นเจตนาของโจทก์ได้ว่าประสงค์จะให้เป็นค่าเสียหายแก่โจทก์โดยกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในรูปของดอกเบี้ยที่คิดเพิ่มขึ้นจากเดิม ดอกเบี้ยที่คิดเพิ่มขึ้นนี้จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383แต่ที่ศาลอุทธรณ์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปียังไม่ถูกต้อง เพราะตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2, จ.7, จ.10, จ.13 ข้อ 1 มีข้อตกลงจะชำระดอกเบี้ยตามปกติโดยไม่ผิดนัดในอัตราร้อยละ 14 และ 13.75 ต่อปี และถ้าผิดนัดจึงจะคิดเพิ่มขึ้นจากนี้ดังนั้น จึงเป็นเบี้ยปรับเฉพาะส่วนที่เกินจากร้อยละ 14 และ13.75 ต่อปี การลดลงจึงลดลงได้ต่ำสุดในอัตราร้อยละ 14 และ 13.75 ต่อปี จะลดลงให้ต่ำกว่านี้ไม่ได้ อัตราร้อยละ 14 และ 13.75 ต่อปี เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาโดยไม่ต้องผิดนัดจึงมิใช่เบี้ยปรับที่จะลดลงได้ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 398,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ในยอดเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.3 ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2537 ตามเช็คเอกสารหมาย จ.5ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2537 ตามเช็คเอกสารหมาย จ.8ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2537 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.75 ต่อปีตามเช็คเอกสารหมาย จ.11 ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2537ตามเช็คเอกสารหมาย จ.14 ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2537จนถึงวันชำระเสร็จให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share