แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารแผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของบริษัทประกันภัยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม2539 แล้วจำเลยได้ใช้เอกสารปลอมนั้นติดที่บริเวณกระจกหน้ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 3 พ – 6729 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร ตาม ป.อ.มาตรา 264วรรคแรก และฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา264 วรรคแรก ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดรวม 2 กระทง แต่เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารแผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเองกับเป็นผู้ใช้เองจึงต้องลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียวตาม ป.อ.มาตรา 268 วรรคสองแต่เนื่องจากเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2539 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 จำเลยได้กระทำการปลอมแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี พ.ศ.2539ของกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นเอกสารราชการแล้วจำเลยได้ใช้เอกสารปลอมนั้นติดที่บริเวณกระจกหน้ารถยนต์คันดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม2539 อีกกรรมหนึ่ง จำเลยจึงกระทำผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ตามป.อ.มาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอง จึงต้องลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอม ตาม ป.อ.มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 แต่เพียงกระทงเดียว ตาม ป.อ.มาตรา 268 วรรคสอง เช่นกัน แม้จะใช้แผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประกอบในคราวเดียวกันแต่ก็เป็นเอกสารคนละประเภทและมีเจตนาก่อให้เกิดผลต่างกัน กล่าวคือ การใช้แผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถปลอมเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่า มีการประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 จริง ส่วนการใช้แผ่นป้ายวงกลมปลอมเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าได้มีการเสียภาษีรถยนต์ถูกต้องตามพ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระแยกกันต่างหากจำนวน 2 กระทง ตาม ป.อ.มาตรา 91