คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7403/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมกว้าง 1 เมตร จึงไม่เป็นทางจำเป็น และให้ย้ายทางภารจำยอมตามที่จำเลยทั้งสองเสนอ โจทก์อุทธรณ์ว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมและเป็นทางจำเป็นด้วยศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น และเมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต่อไปว่า ทางพิพาทไม่เป็นทางภารจำยอมจึงเป็นการวินิจฉัยไปตามประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์หาเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบไม่
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมทุกด้าน คงมีเฉพาะทางพิพาทที่โจทก์และครอบครัวใช้เป็นทางเข้าออกที่ดินของโจทก์เท่านั้น จำเลยไม่ได้อุทธรณ์หรือยื่นคำแก้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงต้องถือเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองจะฎีกาว่า โจทก์มีทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะนอกเหนือจากทางพิพาทอีกไม่ได้
โจทก์อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เปิดทางจำเป็นกว้างตามแนวที่โจทก์ขอ แต่ไม่ระบุความกว้างให้ชัดเจน จึงอาจเกิดปัญหาในชั้นบังคับคดีได้ ศาลฎีกาจึงระบุให้จำเลยทั้งสองเปิดทางจำเป็นเสียให้ชัดแจ้งและไม่เกินกว่าที่โจทก์ขอมาในชั้นอุทธรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าทางเดินบนที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องเป็นทางภารจำยอมและทางจำเป็น ให้จำเลยทั้งสองรื้อรั้วลวดหนามออกไป ห้ามจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์เสื่อมสิทธิในการใช้ทางภารจำยอมและทางจำเป็นดังกล่าว ให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสิทธิทางภารจำยอม ถ้าไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าเสียหายจนถึงวันฟ้อง 42,510 บาท กับชำระเงินอีกวันละ 2,030 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อลวดหนามเสร็จให้แก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเปิดทางในที่ดินโฉนดเลขที่ 8633 กว้าง 2 เมตร ตลอดแนวที่ดินตามที่ปรากฏในแผนที่พิพาทซึ่งระบายสีชมพูที่จำเลยทั้งสองเสนอขอย้ายทางภารจำยอม กับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนภารจำยอมให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองรื้อรั้วลวดหนามออกไปจากทางพิพาท ห้ามจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์เสื่อมสิทธิในทางพิพาทอีกต่อไป คำขอนอกนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมกว้าง 1 เมตร จึงไม่เป็นทางจำเป็นและให้ย้ายทางภารจำยอมตามที่จำเลยทั้งสองเสนอ โจทก์อุทธรณ์ว่า ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมกว้าง 4 เมตร มิใช่กว้าง 1 เมตร และเป็นทางจำเป็นด้วยไม่มีเหตุที่จะย้ายทางพิพาท ขอให้เปิดทางพิพาทกว้าง 3.40 เมตร ตลอดแนวกับให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนภารจำยอมให้ ดังนั้น ประเด็นที่ว่าทางพิพาทเป็นภารจำยอมจึงยุติ ประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะต้องวินิจฉัยมีเพียงว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมมีขนาดกว้างเพียงใด และเป็นทางจำเป็นด้วยหรือไม่มีเหตุที่จะย้ายทางพิพาทหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดประเด็นวินิจฉัยเพียงว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นด้วยหรือไม่ และวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็น ไม่เป็นทางภารจำยอม เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์อุทธรณ์ว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมและเป็นทางจำเป็นด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ และเมื่อเห็นว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยต่อไปว่า ทางพิพาทไม่เป็นทางภารจำยอมก็เป็นการวินิจฉัยไปตามประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์ หาเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่

ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ทางพิพาทไม่ใช่ทางจำเป็นเพราะโจทก์มีทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะรวมทั้งทางออกที่จำเลยทั้งสองเปิดให้ใช้แทนทางพิพาทนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมทุกด้าน คงมีเฉพาะทางพิพาทที่โจทก์และครอบครัวใช้เป็นทางเข้าออกที่ดินของโจทก์เท่านั้น จำเลยทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์หรือยื่นคำแก้อุทธรณ์ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงต้องถือเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสองจะมาฎีกาว่า โจทก์มีทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะนอกเหนือจากทางพิพาทอีกไม่ได้

แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ ให้เปิดทางจำเป็นกว้างตามแนวที่โจทก์ขอ โดยไม่ระบุความกว้างอาจเกิดปัญหาในชั้นบังคับคดีได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรระบุให้ชัดแจ้ง โดยให้จำเลยทั้งสองเปิดทางจำเป็นกว้าง 3.40 เมตร เท่าที่โจทก์ขอมาในชั้นอุทธรณ์

พิพากษาแก้เป็นว่า ทางจำเป็นในที่ดินโฉนดเลขที่ 8633 มีความกว้าง 3.40 เมตรตลอดแนว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share