คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7208/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การกำหนดระยะเวลาให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเข้ามาใหม่ในกรณีที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(3) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 เป็นอำนาจของศาลที่มีอยู่ทั่วไปในอันที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใดที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะและไม่อยู่ในบังคับแห่งบทกฎหมายว่าด้วยอายุความ หรือการย่นหรือขยายระยะเวลาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 26
การนำคำฟ้องมายื่นใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(3) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 หมายถึงการนำคำฟ้องในมูลกรณีเดียวกับคดีเดิมที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ และโจทก์มีสิทธิฟ้องบุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งดังที่โจทก์ฟ้องได้โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นการฟ้องเฉพาะคู่ความเดิมกรณีไม่อยู่ในบังคับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 53 ดังนั้น โจทก์จึงสามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นพนักงานตรวจแรงงานผู้ออกคำสั่งดังกล่าวโดยตรงเป็นจำเลยเข้ามาในคดีนี้ด้วยได้ แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2540 โจทก์ว่าจ้างนายสุรพล พวงมาลัย เป็นลูกจ้าง โดยให้นับอายุงานต่อจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2539 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 ครั้งสุดท้ายให้ทำหน้าที่หัวหน้าแผนกเร่งรัดหนี้สิน อัตราค่าจ้างเดือนละ 18,040 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 500 บาท ชำระค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2542 โจทก์มีคำสั่งเลิกจ้างนายสุรพลด้วยสาเหตุทุจริตต่อหน้าที่โดยร่วมกับนายสมชาย เปลี่ยนไทย กับพวกฉ้อโกงหรือยักยอกเงินค่างวดเช่าซื้อ และบกพร่องประมาทเลินเล่อต่อหน้าที่อย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2542 นายสุรพลได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานเขตพื้นที่ปทุมวันสังกัดกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยที่ 2 ได้สอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งที่ 37/2542 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2542 ว่า การกระทำของนายสุรพลไม่ถือเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และไม่บกพร่องต่อหน้าที่หรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ และสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย 111,240 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 35,844 บาท และค่าจ้างสำหรับหยุดพักผ่อนประจำปี 1,854 บาท ให้แก่นายสุรพล โจทก์ได้รับคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน2542 แต่โจทก์ไม่เห็นด้วย ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ 37/2542 ของจำเลยที่ 2

ศาลแรงงานกลางตรวจคำฟ้องแล้ว มีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 คงรับคำฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 2 ให้การว่า คำสั่งของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากนำคดีขึ้นสู่ศาลพ้นกำหนด 30 วัน ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 แม้ศาลแรงงานกลางจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 17480/2542 หมายเลขแดงที่ 3111/2543 ของศาลแรงงานกลาง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะยื่นฟ้องเข้ามาใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาก็ตาม เพราะกำหนดระยะเวลา 30 วันดังกล่าวไม่อาจย่นหรือขยายได้เนื่องจากไม่ใช่เรื่องอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ก็ไม่ใช่จำเลยในคดีดังกล่าว คำพิพากษาคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ 37/2542 ของจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ส่วนปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า การฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานต้องฟ้องภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 กำหนดเวลา 30 วันดังกล่าวไม่ใช่อายุความหรือระยะเวลาเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522หรือระยะเวลาตามที่ศาลแรงงานกำหนด จึงไม่อาจย่นหรือขยายได้ และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3111/2543 ของศาลแรงงานกลาง ซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะยื่นคำฟ้องเข้ามาใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษานั้น โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยเพียงลำพัง ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความ และศาลแรงงานกลางไม่ได้กำหนดให้โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย คำพิพากษาในคดีดังกล่าวไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 โจทก์จะถือประโยชน์จากระยะเวลาที่ศาลกำหนดให้โจทก์ฟ้องใหม่ในคดีนั้นมาฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยในคดีนี้ด้วยไม่ได้ โจทก์ยังต้องฟ้องจำเลยที่ 2 ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งตามกำหนดเดิม เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้เกินกำหนดดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า การกำหนดระยะเวลาให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเข้ามาใหม่ในกรณีที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148(3) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 เป็นอำนาจของศาลที่มีอยู่ทั่วไปในอันที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใดที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะและไม่อยู่ในบังคับแห่งบทกฎหมายว่าด้วยอายุความ หรือการย่นหรือขยายระยะเวลาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 26 และในกรณีนี้ การนำฟ้องมายื่นใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(3) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 นั้น หมายถึง การนำคำฟ้องในมูลกรณีเดียวกับคดีเดิม ได้แก่ คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3111/2543 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 37/2542 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2542 และโจทก์มีสิทธิฟ้องบุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นจำเลยได้โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นการฟ้องเฉพาะคู่ความเดิม ไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 53 ดังนั้น โจทก์จึงสามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นพนักงานตรวจแรงงานผู้ออกคำสั่งดังกล่าวโดยตรงเป็นจำเลยเข้ามาในคดีนี้ด้วยได้ แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิมก็ตาม เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องเข้ามาใหม่ภายในระยะเวลาที่ศาลแรงงานกลางกำหนด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share