แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานว่า เหตุทำร้ายร่างกายที่ทำให้ ส.ลูกจ้างจำเลยได้รับบาดเจ็บ กระดูกใบหน้าด้านขวาและกระดูกข้อเท้าซ้ายแตกได้เกิดขึ้นขณะที่โจทก์และ ส.เดินออกจากบริษัทจำเลย ห่างจากรั้วและป้อมพนักงานรักษาความปลอดภัยประมาณ 5 เมตร ซึ่งอยู่นอกบริเวณบริษัทจำเลย ดังนี้ การที่ศาลแรงงานกลับวินิจฉัยว่า โจทก์ทำร้ายร่างกาย ส.จนได้รับอันตรายสาหัสภายในบริเวณบริษัทจำเลย ซึ่งขัดกับคำรับของคู่ความดังกล่าว จึงเป็นการมิชอบ
หนังสือเลิกจ้างและคำให้การจำเลยระบุว่า เหตุเกิดขณะ ส.จะเดินไปขึ้นรถรับส่งพนักงานที่จำเลยจัดไว้ให้ และโจทก์ทำร้ายร่างกาย ส.ในสถานที่ที่จำเลยรับผิดชอบอยู่ มิใช่ภายในบริเวณบริษัทจำเลย การที่ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าเหตุเกิดภายในบริเวณบริษัทจำเลย ซึ่งไม่ตรงกับหนังสือเลิกจ้างและคำให้การดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน
เมื่อศาลฎีกาไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานที่จะนำมาวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า โจทก์ไม่มีความผิด กรณีทำร้ายร่างกาย ส.โจทก์จะมีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งเป็นกรณีข้อเท็จจริงได้มาจากการที่ศาลแรงงานรับฟังมาโดยมิชอบและไม่พอแก่การวินิจฉัย โดยที่ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงเองได้ ศาลฎีกาจึงชอบที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเรื่องสถานที่เกิดเหตุว่าเกิดเหตุ ณ ที่ใด และอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยหรือไม่ เสียใหม่ให้ถูกต้อง ตามป.วิ.พ.มาตรา 243 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31, 56 วรรคสอง