คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4626/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์แบ่งที่ดินส่วนที่เป็นของ ม.ให้จำเลยทั้งสอง การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวของจำเลยทั้งสองเป็นการได้มาโดยผลของคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่ได้มาโดยทางมรดกในฐานะที่เป็นทายาทของม. ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาของศาลฎีกาการแบ่งแยกที่ดินพิพาทเป็นแต่เพียงขั้นตอนของการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาเท่านั้น โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษานั้น ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 145 วรรคหนึ่ง
ขณะที่ ม.ถึงแก่กรรม ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก ม.มีจำเลยทั้งสองป.และ พ.รวม 4 คน เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นฟ้องโจทก์ในคดีก่อนอ้างว่ามรดกของม.ตกได้แก่จำเลยทั้งสองเท่านั้น โดยขณะนั้น ป.บิดาโจทก์ถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ให้การในคดีก่อนแต่เพียงว่า ม.ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ และโจทก์ได้ครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382 แล้ว ดังนั้น คดีก่อนจึงเป็นเรื่องให้ศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาททั้งหมดเป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่จำเลยทั้งสองเท่านั้นหรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ม.ตกได้แก่ ป.และต่อมาตกเป็นของโจทก์ และขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งให้โจทก์ ย่อมเป็นการขัดกับคำให้การของโจทก์ในคดีก่อนและเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งคำฟ้องโจทก์คดีนี้ก็เป็นเรื่องที่ให้ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองมีส่วนในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของ ม.ทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องให้วินิจฉัยเรื่องมรดกของ ป.จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวล ป.วิ.พ.มาตรา144 วรรคหนึ่ง ยิ่งกว่านั้นเมื่อคดีก่อนศาลฎีกาพิพากษาแล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองตั้งแต่ พ.ศ.2525 โจทก์ต้องผูกพันตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งโดยอ้างว่าเป็นมรดกของ ป.และ พ.ได้อีก

Share