แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือแจ้งของเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 จะต้องเป็นการแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนซึ่งได้จัดเตรียมการจ่ายไว้แล้วโดยไม่ต้องกระทำการอย่างอื่นอีก หากหนังสือแจ้งของเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เป็นกรณีที่ยังสามารถดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งอีกโดยยังไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทน ก็ไม่ใช่หนังสือแจ้งของเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว
หนังสือที่จำเลยมีถึงโจทก์ผู้ถูกเวนคืนระบุเรื่องว่า ขอเชิญให้ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนและสิ่งที่ส่งมากับหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือแสดงรายการเอกสารที่ต้องใช้ในการทำสัญญาเกี่ยวกับค่าทดแทน และมีข้อความในหมายเหตุอีกว่า ในกรณีที่โจทก์ไม่ตกลงทำสัญญา การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 จะทำการวางเงินค่าทดแทน เอกสารดังกล่าวจึงเป็นหนังสือที่เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มาทำสัญญาซื้อขายตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 แล้ว
สำหรับขั้นตอนในการดำเนินการจ่ายเงินค่าทดแทนของจำเลยทั้งสองนั้น หลังจากมีการทำสัญญาซื้อขายต่อกันแล้ว จำเลยที่ 1 จะมีหนังสือแจ้งโจทก์ผู้ถูกเวนคืนให้มารับเงินค่าทดแทนในภายหลังอีกครั้งหนึ่ง แต่โจทก์ไม่ได้มาทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยที่ 1 ต่อมาเมื่อครบกำหนด 60 วันจำเลยที่ 1 จึงได้นำเงินค่าทดแทนไปวางที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์และมีหนังสือถึงโจทก์เรื่องแจ้งการวางเงินค่าทดแทน ซึ่งมีข้อความให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนได้โดยไม่มีข้อที่จะดำเนินการอย่างอื่นอีก ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการแจ้งโจทก์ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับหนังสือฉบับดังกล่าวเมื่อไร และหนังสือฉบับดังกล่าวลงวันที่ 15 มีนาคม2534 ดังนั้น โจทก์จะต้องได้รับหนังสือไม่เร็วกว่าวันที่ 15 มีนาคม 2534 โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย วันที่ 13 พฤษภาคม 2534ไม่เกินหกสิบวัน จึงเป็นการอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25วรรคหนึ่ง แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้
อาคารโกดังคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียวของโจทก์มีเนื้อที่841.30 ตารางเมตร ตรงกับเนื้อที่ตามฟ้องของโจทก์ แม้อาคารหลังนี้อยู่ในแนวเขตที่จะเวนคืนเพียงบางส่วนเนื้อที่ 300 ตารางเมตรก็ตาม แต่โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ ขอให้เวนคืนส่วนที่เหลืออยู่ซึ่งใช้การไม่ได้แล้ว และไม่ปรากฏว่ารัฐมนตรีฯได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ ซึ่งถือว่ารัฐมนตรีฯ วินิจฉัยให้เจ้าหน้าที่เวนคืนตามคำร้องขอของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา19 วรรคสอง แล้ว
เมื่อจำเลยต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาล โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคสาม ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ ส่วนวันเริ่มต้นชำระดอกเบี้ยนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการตกลงทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามมาตรา 10จึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่าย และปรากฏตามหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ได้นำเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนวน4,149,515.37 บาท ไปวางที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ เมื่อวันที่ 15มีนาคม 2534 ในนามของโจทก์ ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวจากเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ศาลวินิจฉัยให้เพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดซึ่งรวมกันแล้วเป็นจำนวน13,403,084.63 บาท แต่ต่อมาคณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนได้แก้ไขราคาเบื้องต้นเฉพาะที่ดินให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นอีก5,607,000 บาท และโจทก์ได้รับเงินจำนวนนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 26 เมษายน2536 นับแต่วันดังกล่าว ต้นเงินที่ใช้คำนวณดอกเบี้ยจึงต้องลดลงจำนวน5,607,000 บาท