แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์กล่าวเพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2530 จำเลยที่ 2 เป็นผู้บริหารงานจำเลยที่ 1ในตำแหน่งอธิการบดี จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวไม่จ่ายเงินเดือนและเงินช่วยเหลือบุตรให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการของจำเลยที่ 1ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์มิได้กล่าวในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัวเพราะเหตุใดโจทก์จะอ้างว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัวด้วยนั้น เป็นการนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ดังนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว
พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย พ.ศ.2507มาตรา 3, 4 ประกอบกับข้อ 10 ข้อ 24 (2) แห่งกฎทบวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2519)ออกตามความใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย พ.ศ.2507และมาตรา 95 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2518 กำหนดให้อธิการบดีผู้บังคับบัญชาโดยอนุมัติของ อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้ผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยซึ่งได้รับเงินเดือนตั้งแต่ระดับ 9ลงมาออกจากราชการได้ และข้อ 7 วรรคสี่ แห่งกฎทบวงดังกล่าวกำหนดว่าอ.ก.ม.มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎทบวงนี้ และมีหน้าที่ช่วย ก.ม.ปฏิบัติการตามที่ ก.ม.มอบหมาย ข้อ 8 อ.ก.ม. มหาวิทยาลัยมีอำนาจตั้งกรรมการเฉพาะกิจเพื่อทำการตามที่ อ.ก.ม. มหาวิทยาลัยมอบหมาย แสดงว่า อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยเป็นองค์กรที่มีอำนาจตั้งบุคคลอื่นปฏิบัติการตามที่ อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยมอบหมายได้เมื่อที่การประชุม อ.ก.ม. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีมติอนุมัติในหลักการมอบอำนาจให้อธิการบดี ประธาน อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้พิจารณาอนุมัติให้ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่ระดับ 9 ลงมาลาออกจากราชการแทน อ.ก.ม. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจสั่งอนุญาตให้โจทก์ลาออกจากราชการได้
การที่โจทก์ไม่ได้ลงวันเดือนปีที่เริ่มรับราชการในหนังสือขอลาออกจากราชการ เป็นเพียงรายละเอียด ไม่ทำให้หนังสือขอลาออกของโจทก์ไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด ส่วนหลักเกณฑ์ว่าด้วยการลาออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ซึ่งได้กำหนดขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยซึ่งประสงค์จะขอลาออกจากราชการปฏิบัติเพื่อให้ระยะเวลาสำหรับผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาการสั่งอนุญาตการลาออกว่าจะสั่งอนุญาตให้ผู้ขอลาออกจากราชการหรือจะสั่งยับยั้งการอนุญาตให้ลาออกโดยดำเนินการ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงเหตุผลและความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการเป็นสำคัญ ฉะนั้น แม้ผู้ขอลาออกจะไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตสละประโยชน์แห่งระยะเวลาดังกล่าวโดยสั่งอนุญาตให้ผู้นั้นลาออกจากราชการตามความประสงค์ของผู้ขอลาออกแล้ว คำสั่งนั้นย่อมมีผลสมบูรณ์ โดยไม่จำต้องแจ้งคำสั่งอนุญาตการลาออกให้โจทก์ทราบล่วงหน้าก่อน 30 วัน ตามระเบียบดังกล่าว และที่และเมื่อระเบียบดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญตามมาตรา 94 (4)และ (5) เท่านั้น ส่วนกรณีของโจทก์ โจทก์ออกจากราชการตามมาตรา 94 (3)กล่าวคือ โจทก์ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการตามมาตรา 95 ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ดังนี้ ระเบียบดังกล่าวจึงนำมาใช้บังคับแก่คดีนี้ไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 2เป็นผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตการลาออกอนุญาตให้โจทก์ออกจากราชการในวันที่ 15มกราคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ขอลาออก ย่อมมีผลให้โจทก์ออกจากราชการตั้งแต่วันขอลาออก ส่วนกรณีที่โจทก์ยังคงรับราชการต่อมาเพราะยังไม่ทราบคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ลาออกจากราชการก็มีผลเพียงทำให้โจทก์ได้รับสิทธิตามพ.ร.ฎ.การจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.2522 มาตรา 18 (1) ที่ให้สิทธิแก่โจทก์ไว้เท่านั้น
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2535มาตรา 18 ที่บัญญัติว่า พ.ร.บ.นี้ไม่ใช้บังคับแก่บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้แล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ และให้ใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่ยื่นฟ้องบังคับแก่คดีดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เมื่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2535 และคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองวันที่ 4 มิถุนายน2535 ดังนี้ในเรื่องการยื่นบัญชีระบุพยานจึงต้องบังคับตาม ป.วิ.พ.มาตรา 88เดิม ซึ่งกำหนดให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน