แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พินัยกรรมของพ. มีข้อความว่าเมื่อข้าพเจ้าเสียชีวิตลงให้ทรัพย์มรดกของข้าพเจ้าแก่จำเลยแต่เพียงผู้เดียวคำว่าทรัพย์มรดกของข้าพเจ้าแสดงว่าต้องการยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่จำเลยแต่เพียงผู้เดียวแม้ในตอนท้ายของพินัยกรรมจะระบุเลขที่โฉนดที่ดินทรัพย์มรดกไว้ด้วยก็ไม่ทำให้ทรัพย์มรดกอื่นที่มิได้แจ้งรายละเอียดไว้ในพินัยกรรมเป็นทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมไปได้เมื่อพ. ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่จำเลยแล้วจึงถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมถูกตัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1608วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของร้อยตำรวจเอกเชาว์ หอมจิตรกับนางพอใจ หอมจิตร ซึ่งเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายหลังบิดามารดาโจทก์ถึงแก่กรรม ศาลจังหวัดสิงห์บุรีมีคำสั่งตั้งนางสาววรรณฑี หอมจิตร เป็นผู้ปกครองโจทก์ตามกฎหมายขณะนางพอใจถึงแก่กรรมมีทรัพย์มรดกตกทอดแก่โจทก์ ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกเพียงผู้เดียวคือที่ดินโฉนดเลขที่ 30717, 54210และ 80243 บ้านหนึ่งหลังเลขที่ 91 และเงินฝากที่ธนาคารต่าง ๆรวมจำนวน 1,010,951.90 บาท นางพอใจไม่ได้ทำพินัยกรรมและตั้งผู้จัดการมรดกไว้ หลังจากนางพอใจถึงแก่กรรม จำเลยซึ่งเป็นพี่สาวนางพอใจได้สมคบกับญาติพี่น้องปลอมพินัยกรรมของนางพอใจอ้างว่านางพอใจยกทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่จำเลย แล้วไปยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางพอใจและเมื่อมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยได้โอนทรัพย์มรดกดังกล่าวเป็นของตนเองและพี่น้อง โจทก์แจ้งให้จำเลยโอนทรัพย์มรดกแก่โจทก์หลายครั้ง จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 30717, 54210และ 80243 ตั้งอยู่ตำบลโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมา พร้อมบ้านเลขที่ 91 หมู่ที่ 2 ตำบลโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมาจังหวัดนครราชสีมา แก่โจทก์ หากไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและให้จำเลยใช้เงินจำนวน 1,010,951.90 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นบุตรของนางพอใจเพราะนางพอใจกับร้อยตำรวจเอกเชาว์ ไม่มีบุตรด้วยกัน นางพอใจ แซ่ตั้ง ที่ระบุในใบสูติบัตรว่าเป็นมารดาโจทก์ เป็นคนละคนกับนางพอใจ หอมจิตร ซึ่งมีชื่อนามสกุลเดิมว่า “ทุมพงษ์”โจทก์จึงไม่ได้เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางพอใจนางพอใจทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลย พินัยกรรมดังกล่าวนางพอใจเขียนขึ้นเองจำเลยไม่ได้ร่วมกับบุคคลใดทำปลอมขึ้นแม้หากฟังได้ว่าโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมของนางพอใจ โจทก์ถูกตัดมิให้รับมรดกโดยพินัยกรรมดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้องโจทก์
โจทก์ และ จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ และ จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางพอใจ หอมจิตร เจ้ามรดกหรือไม่ เห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นบุตรนางพอใจ หอมจิตร และเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางพอใจด้วย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า พินัยกรรมของนางพอใจ หอมจิตร ตามเอกสารหมาย ล.7 ที่ระบุยกทรัพย์มรดกแก่จำเลยเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และนางสาววรรณฑีพยานโจทก์เบิกความต้องกันว่า นางพอใจไม่ทำพินัยกรรมให้ใคร เพราะมีโจทก์เป็นบุตรเพียงคนเดียว นอกจากนี้พันตำรวจโทโสภณ พยานโจทก์เบิกความสนับสนุนว่า พันตำรวจโทโสภณเคยเห็นลายมือเขียนหนังสือและลายมือชื่อของนางพอใจมาก่อนเพราะนางพอใจเคยเขียนจดหมายถึงพันตำรวจโทโสภณขณะรับราชการอยู่ที่จังหวัดนราธิวาสฝากให้ซื้อของและลายมือชื่อที่เขียนพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.7 ไม่เหมือนลายมือของนางพอใจที่เขียนจดหมายถึงพันตำรวจโทโสภณ ทั้งลักษณะตัวอักษรก็ไม่เหมือนกัน เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสามปากเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมายืนยันว่านางพอใจไม่ทำพินัยกรรมให้ใครและไม่มีตัวอย่างลายมือเขียนหนังสือและลายมือชื่อที่แท้จริงของนางพอใจมายืนยันให้เห็นว่าลายมือเขียนหนังสือและลายมือชื่อของนางพอใจแตกต่างไปจากพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.7 ทั้งมิได้ส่งเอกสารหมาย ล.7 ไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ว่าเอกสารหมาย ล.7 มิใช่ลายมือเขียนหนังสือและลายมือชื่อของนางพอใจนอกจากนี้โจทก์และนางสาววรรณฑีพยานโจทก์ต่างเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านทำนองเดียวกันว่า ไม่ทราบว่านางพอใจทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกแก่จำเลยหรือไม่ซึ่งหมายความว่า โจทก์ไม่ทราบว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ล.7 เป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่นั่นเอง จึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้พิสูจน์ให้เห็นว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย 6, 7 เป็นพินัยกรรมปลอม ส่วนพยานจำเลยมีตัวจำเลย นางสุนทวี ทุมพงษ์ น้องสาวจำเลยและนายเนียม ชมโคกกรวด อดีตกำนันตำบลโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมาจังหวัดนครราชสีมา เบิกความต้องกันว่า ขณะตั้งศพนางพอใจบำเพ็ญกุศลอยู่ที่บ้านที่นางพอใจใช้เป็นที่อยู่อาศัย จำเลยพร้อมด้วยพยานจำเลยทั้งสองคนเข้าไปตรวจดูทรัพย์สินในห้องนอนของนางพอใจได้พบกรมธรรม์ประกันชีวิต โฉนดที่ดิน สมุดเงินฝากและพินัยกรรมที่นางพอใจยกทรัพย์มรดกให้จำเลย โดยตามคำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสามปากไม่มีพิรุธว่าเบิกความไม่ตรงกับความเป็นจริงทั้งไม่ปรากฎว่านางสุนทรีและนายเนียมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีนี้ พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางพอใจทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ล.7 ยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลย ที่โจทก์ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกที่มิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมเป็นการฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมนั้น เห็นว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ล.7 มีข้อความในตอนแรกระบุว่า “เมื่อข้าพเจ้าเสียชีวิตลง ให้ทรัพย์มรดกของข้าพเจ้าให้แก่นางสนิท สุขทรัพย์เจริญ พี่สาวของข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว”คำว่า “ทรัพย์มรดกของข้าพเจ้า” แสดงให้เห็นเจตนาของนางพอใจโดยชัดแจ้งว่าต้องการยกทรัพย์มรดกของนางพอใจทั้งหมดให้แก่จำเลยแต่เพียงผู้เดียว แม้ในตอนท้ายของพินัยกรรมจะมีข้อความระบุถึงเลขที่โฉนดที่ดินที่เป็นทรัพย์มรดกไว้ด้วยก็ไม่อาจทำให้ทรัพย์มรดกอื่นของนางพอใจที่มิได้แจงรายละเอียดไว้ในพินัยกรรมเป็นทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมไปได้เนื่องจากได้กล่าวครอบคลุมถึงทรัพย์มรดกทั้งหมดไว้แล้ว เมื่อนางพอใจทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่จำเลยแล้วจึงถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1608 วรรคสอง”
พิพากษายืน