คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2964/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ ป.รัษฎากร มาตรา 82 จะบัญญัติให้ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มาตรา 82/4 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เมื่อโจทก์ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากร โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยผู้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารได้
สำหรับกรณีของโจทก์ซึ่งยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีการค้าทั้งสองแบบ เมื่อโจทก์ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมสรรพากรโดยแจ้งไปยังส่วนราชการคู่สัญญาคือจำเลย ขอใช้สิทธิเรียกภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เนื่องจากจำเลยผู้ว่าจ้างทำการหักภาษีการค้าไว้ต่อไป การที่โจทก์มายื่นรายการเพื่อเสียภาษีการค้าจึงอาจเป็นเพราะโจทก์เข้าใจผิด อีกทั้งโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นที่จำเลยได้หักจ่ายจากเงินค่าจ้างให้โจทก์และกรมสรรพากรได้คืนให้โจทก์แล้ว จึงไม่ถือว่าโจทก์ได้เลือกเสียภาษีการค้าและได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในใบเสนอราคาของโจทก์ระบุรวมค่าภาษีไว้ด้วย จึงน่าเชื่อว่าค่าจ้างจำนวน 87,200,000 บาท รวมภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นไว้ด้วยแต่สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535อันเป็นวันที่ภาษีมูลค่าเพิ่มมีผลใช้บังคับ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ค่าจ้างดังกล่าวจะมีภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ด้วย
แม้ว่าค่าจ้างตามสัญญาจำนวน 82,200,000 บาท จะมีภาษีการค้าและภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 3.3 รวมอยู่ด้วยก็ตาม แต่ตาม ป.รัษฎากรมาตรา79 วรรคหนึ่ง ฐานภาษีสำหรับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้แก่มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ และคำว่า”มูลค่า” นั้น มาตรา 79 วรรคสอง ให้หมายความถึงเงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทนค่าบริการ หรือประโยชน์ใด ๆ ซึ่งอาจคำนวณได้เป็นเงิน เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้รับภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นคืนจากกรมสรรพากรแล้ว เงินค่าภาษีดังกล่าวจึงเป็นมูลค่าที่โจทก์ได้รับอันเป็นฐานภาษีที่จะต้องนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉะนั้นจึงนำเงินค่าภาษีดังกล่าวหักออกจากยอดเงินค่าจ้างก่อนคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้จะต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 จากยอดฐานก่อนหักภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นได้ผลลัพธ์เท่าใด จึงนำภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นร้อยละ 3.3มาหักออก ที่เหลือจึงเป็นยอดภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79 ฐานภาษีได้แก่มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับ ฉะนั้นจึงไม่ต้องนำค่าปรับที่โจทก์ถูกปรับสำหรับการส่งมอบงานล่าช้าหักออกจากเงินค่าจ้างก่อนคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
เมื่อฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้กู้เงินธนาคารและเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี มาชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่โจทก์อุทธรณ์ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 224วรรคแรก
ป.รัษฎากร มาตรา 82/4 บัญญัติให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเกิดขึ้นเมื่อหนี้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มถึงกำหนดชำระ แต่เมื่อจำเลยชำระค่าจ้างงานแต่ละงวด โจทก์เพียงแต่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น เมื่อโจทก์ยังมิได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ การที่จำเลยยังไม่ชำระหนี้จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด จำเลยจึงยังไม่ต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ แต่เมื่อต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งการเลือกเสียภาษีมูลค่าเพิ่มลงวันที่ 15 ตุลาคม 2535 จำเลยได้รับหนังสือในวันดังกล่าวแล้วไม่ชำระ จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดตาม ป.พ.พ.มาตรา 224 วรรคแรก โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยของภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าจ้างงวดที่ 1 ถึง 4 นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม2535 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ

Share