คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 892/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดคดีนี้เนื้อที่ 20 ไร่เศษเป็นที่ดินแปลงเดียวกับคดีก่อนซึ่งมีเนื้อที่ 100 ไร่ คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่า จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และเป็นที่ดินของรัฐ ศาลพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถางตัดฟัน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ไม้ขนาดเล็กและใหญ่แล้วยึดถือครอบครองที่ดินแปลงเดียวกันเนื้อที่ 20 ไร่เศษ เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ดังนั้น เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดตาม ป. ที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 5, 6, 14 และ 31 อันเป็นการฟ้องในการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกับคดีก่อน ทั้งองค์ประกอบแห่งความผิดก็แตกต่างกัน ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 5, 6, 9, 14, 31 และให้จำเลยและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง ให้จำคุก 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ให้จำเลยและบริวารออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญา หมายเลขแดงที่ 217/2534 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดคดีนี้เนื้อที่ 20 ไร่เศษ เป็นที่ดินแปลงเดียวกับคดีก่อนซึ่งมีเนื้อที่ 100 ไร่ คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่า จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินซึ่งเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันและเป็นที่ดินของรัฐ ศาลพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด ส่วนคดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วทาง ตัดฟัน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ไม้ขนาดเล็กและใหญ่ ไม่ทราบจำนวนแน่นอนแล้วยึดถือครอบครองที่ดินแปลงเดียวกันเนื้อที่ 20 ไร่เศษ เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน ดังนั้นเมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดตาม ป. ที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ซึ่งศาลได้พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ส่วนคดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 5, 6, 14, และ 31 อันเป็นการฟ้องในการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกับคดีก่อนกับทั้งองค์ประกอบแห่งความผิดก็แตกต่างกัน ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง ให้จำคุก 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน โทษจำคุกของจำเลยให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 56 ให้จำเลยและบริวารอออกจากเขตป่าสงวน แห่งชาติที่ยึดถือครอบครองตามฟ้อง.

Share