คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2747/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 125 ได้บัญญัติให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดคำร้องกล่าวหาตามมาตรา 124 และออกคำสั่งภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องกล่าวหา การที่ลูกจ้างได้ยื่นคำร้องกล่าวหาโจทก์ต่อจำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2542 และจำเลยทั้งสิบสามได้มีคำสั่งลงวันที่ 9 เมษายน 2542 ซึ่งไม่เกิน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องกล่าวหาของลูกจ้าง คำสั่งของจำเลยทั้งสิบสามจึงออกภายในกำหนดเวลา และชอบด้วย มาตรา 125 แห่งบทบัญญัติดังกล่าว แม้จะส่งคำสั่งให้โจทก์ในวันที่ 28 เมษายน 2542 ซึ่งเป็นระยะเวลาเกิน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องกล่าวหาก็ไม่ถือว่าออกคำสั่งเกินกำหนด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสิบสาม
จำเลยทั้งสิบสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า… ตามมาตรา 125 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 บัญญัติว่า “เมื่อได้รับคำร้องกล่าวหาตามมาตรา 124 แล้วให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่งภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องกล่าวหา รัฐมนตรีมีอำนาจขยายระยะเวลาให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาชี้ขาดได้ตามที่เห็นสมควร” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องกล่าวหา คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าลูกจ้างทั้งแปดได้ยื่นคำร้องกล่าวหาโจทก์ต่อจำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2543 และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งลงวันที่ 9 เมษายน 2542 ซึ่งไม่เกิน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องกล่าวหาของลูกจ้างทั้งแปดคำสั่งของจำเลยทั้งสิบสามจึงออกภายในกำหนดเวลาและชอบด้วยมาตรา 125 แห่งบทบัญญัติดังกล่าว แม้จะส่งคำสั่งให้โจทก์ในวันที่ 28 เมษายน 2543 ซึ่งเป็นระยะเวลาเกินกว่า 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องกล่าวหาก็ตาม ก็ไม่ถือว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ออกคำสั่งเกินกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 125 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share