คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 755/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องโดยแบ่งการกระทำที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเกี่ยวกับการผลิตอาหารปลอม และส่วนที่สองเกี่ยวกับการจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าอันเป็นอาหารปลอมและที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม สำหรับส่วนแรกของฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับการปลอมสลากเครื่องหมายการค้า ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่า มีผู้อื่นปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหาย มิได้อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนี้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนี้ และในส่วนที่เกี่ยวกับการนำเครื่องหมายการค้าปลอมไปปิดผนึกไว้ที่ขวดบรรจุสินค้าและการนำซอสหอยนางรมที่ผลิตขึ้นมาบรรจุลงในขวดที่ปิดผนึกฉลากเครื่องหมายการค้าปลอม ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นความผิดกรรมที่สองที่สามนั้น ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่า การกระทำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตอาหารปลอมของจำเลย การกระทำทั้งสองอย่างของจำเลยจึงเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวกับการกระทำความผิดฐานผลิตอาหารปลอมของจำเลย สำหรับส่วนหลังของฟ้อง เนื่องจากการจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าอันเป็นอาหารปลอมและมีเครื่องหมายการค้าปลอม เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังรวมทั้งมีเจตนาที่แยกต่างหากจากการผลิตอาหารปลอม จึงเป็นการกระทำคนละกรรมต่างกันจากการผลิตอาหารปลอม ต้องลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้อีกกรรมหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 4, 108, 110, 115, 117 พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 25, 27, 59 ป.อ. มาตรา 32, 33, 83 ริบของกลาง และนับโทษจำเลยที่ 5 และที่ 6 ต่อจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1104/2541 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การปฏิเสธ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เพื่อให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นคดีใหม่ภายใน 7 วัน ส่วนจำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา บริษัทจิ้วฮวด จำกัด และนายสถิตย์ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตโดยเรียกบริษัทจิ้วฮวด จำกัด ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 และเรียกนายสถิตย์ว่าโจทก์ร่วมที่ 2
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 มีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110 (1), 108 พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25, 27, 59 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักตาม ป.อ. มาตรา 90 คือฐานร่วมกันผลิตและจำหน่ายอาหารปลอม ให้จำคุกคนละ 2 ปี ปรับคนละ 100,000 บาท จำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา อันเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 50,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ในสำนวนการสอบสวนประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 ริบของกลาง เนื่องจากจำเลยที่ 5 และที่ 6 ได้รับการรอการลงโทษ จึงให้ยกคำขอเรื่องการนับโทษต่อของจำเลยที่ 5 และที่ 6
โจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสองประการแรกว่า การกระทำของจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นความผิดหลายกรรมหรือไม่ โจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นการกระทำความผิด 4 กรรม คือกรรมแรก การร่วมกันทำปลอมขึ้นทั้งฉบับซึ่งสลากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมทั้งสองเพื่อลวงให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมทั้งสองที่แท้จริง กรรมที่สอง การร่วมกันนำเครื่องหมายการค้าปลอมดังกล่าวไปปิดผนึกไว้ที่ขวดบรรจุสินค้าอันเป็นการจำหน่าย เสนอจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม กรรมที่สาม การร่วมกันนำซอสหอยนางรมที่ผลิตปลอมขึ้นมาบรรจุลงในขวดที่ปิดผนึกฉลากเครื่องหมายการค้าปลอม เพื่อลวงให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าซอสหอยนางรมปลอมเป็นสินค้าซอสหอยนางรมที่แท้จริงอันเป็นความผิดฐานผลิตอาหารปลอมอีกกระทงหนึ่ง และกรรมที่สี่ การร่วมกันนำซอสหอยนางรมปลอมดังกล่าวออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องโดยแบ่งการกระทำที่อ้างว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 กระทำผิดออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเกี่ยวกับการผลิตอาหารปลอม และส่วนที่สองเกี่ยวกับการจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าอันเป็นอาหารปลอมและที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม สำหรับส่วนแรกของฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับการปลอมสลากเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์ว่าเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งนั้น ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่ามีผู้อื่นปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหาย มิได้อ้างว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 กระทำความผิดฐานนี้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 กระทำความผิดฐานนี้อีกกรรมหนึ่ง และในส่วนที่เกี่ยวกับการนำเครื่องหมายการค้าปลอมไปปิดผนึกไว้ที่ขวดบรรจุสินค้าและการนำซอสหอยนางรมที่ผลิตขึ้นมาบรรจุลงในขวดที่ปิดผนึกฉลากเครื่องหมายการค้าปลอมซึ่งโจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์อ้างว่าเป็นความผิดกรรมที่สองและที่สามนั้น ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่า การกระทำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตอาหารปลอมของจำเลยที่ 5 และที่ 6 การกระทำทั้งสองอย่างของจำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวกับการกระทำความผิดฐานผลิตอาหารปลอม สำหรับส่วนหลังของฟ้อง เนื่องจากการจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าอันเป็นอาหารปลอมและที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังรวมทั้งมีเจตนาที่แยกต่างหากจากการผลิตอาหารปลอมที่จำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายจึงเป็นการกระทำคนละกรรมต่างกันจากการผลิตอาหารปลอม ต้องลงโทษจำเลยที่ 5 และที่ 6 ในความผิดฐานนี้อีกกรรมหนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษจำเลยที่ 5 และที่ 6 เพียงกรรมเดียว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ร่วมทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นความผิดสองกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 ความผิดฐานผลิตอาหารปลอมให้ลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี ปรับคนละ 100,000 บาท ความผิดฐานจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารปลอมและที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นบทหนักตาม ป.อ. มาตรา 90 ลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี ปรับคนละ 100,000 บาท รวมสองกรรมจำคุกคนละ 8 ปี ปรับคนละ 200,000 บาท เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 คนละกึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 5 และที่ 6 คนละ 4 ปี ปรับคนละ 100,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.

Share