คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5753/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ เรื่อง คดีแรงงาน ++
++
++ ทดสอบการทำงานในระบบ CW เพื่อค้นหาข้อมูลทาง online ++
++ ย่อข้อกฎหมายอย่างไม่เป็นทางการ
++ ขอชุดตรวจได้ที่งานย่อข้อกฎหมายระบบ CW โถงกลางชั้น 3 ++
++
++
++ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ทะเลาะวิวาทกับนายโชคชัย นุ้ยทองคำ หัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัย เป็นการกระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยกับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่
++
++ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นผู้เริ่มต้นก่อเหตุทะเลาะวิวาทขึ้นโดยกล่าววาจาหยาบคายและต่อว่านายโชคชัย เป็นเหตุให้นายโชคชัยบันดาลโทสะเข้าชกต่อยโจทก์ก็ตาม ก็เป็นเพียงกรณีที่โจทก์ถูกนายโชคชัยทำร้ายร่างกายแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยโจทก์มิได้ทำร้ายตอบโต้ และโจทก์มีตำแหน่งหัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัยเท่าเทียมกับนายโชคชัย ทั้งห้องเกิดเหตุก็เป็นห้องสำนักงานรักษาความปลอดภัยอันเป็นที่ทำงานเฉพาะส่วนของพนักงานรักษาความปลอดภัย บุคคลภายนอกไม่สามารถที่จะเข้าไปหรือเห็นเหตุการณ์หรือได้ยินเสียงทะเลาะวิวาทได้
++ จึงถือไม่ได้ว่า การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4)
++ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุนี้จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๙ จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่กำกับดูแลรักษาความปลอดภัยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๐,๗๑๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๒๘ ของเดือน ต่อมาวันที่ ๒๘พฤษภาคม ๒๕๔๑ จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๑ โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า อ้างว่าโจทก์ทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ดื่มสุราหรือของมึนเมาระหว่างปฏิบัติงาน และก่อเหตุทะเลาะวิวาททำร้ายผู้อื่น ซึ่งไม่เป็นความจริง โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวน ๓๒,๑๓๐ บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๑๐,๗๑๐ บาท โจทก์ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากไม่สามารถรับกลับเข้าทำงาน ให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน ๗๔,๙๗๐ บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๖ วันเป็นเงิน ๒,๑๔๒ บาท ซึ่งโจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าจ้างระหว่างพักงานโดยโจทก์มิได้กระทำผิดจำนวน ๒,๔๙๙ บาท ค่าชดเชยจำนวน ๓๒,๑๓๐ บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๑๐,๗๑๐ บาท และออกหนังสือแสดงการทำงานให้แก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยเข้าทำงานเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๙ ตำแหน่งหัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๐,๗๑๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๒๘ของเดือน เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๑ เวลา ๕ นาฬิกาเศษ โจทก์ดื่มสุราจากภายนอกบริเวณบริษัทจำเลยแล้วเข้ามาในบริเวณที่ทำงานในขณะที่ยังไม่ถึงเวลาปฏิบัติงานของโจทก์ และไม่ปรากฏว่าโจทก์มีอาการมึนเมาสุรา เพียงแต่มีกลิ่นสุราจากตัวโจทก์เท่านั้น กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์มาทำงานในลักษณะมึนเมา โจทก์จึงมิได้กระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลย หมวดที่ ๑๑ ข้อ ๑๑.๑.๑ ในข้อ ๖ แต่การที่โจทก์ทะเลาะวิวาทชกต่อยกับนายโชคชัยโดยโจทก์เป็นผู้เริ่มต้นขึ้นก่อนด้วยการกล่าววาจาหยาบคาย และต่อว่านายโชคชัย เป็นเหตุให้นายโชคชัยบันดาลโทสะไม่สามารถระงับอารมณ์ได้ จึงชกต่อยกับโจทก์ การกระทำของโจทก์เป็นความผิดต่อระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยหมวดที่ ๑๑ ข้อ ๑๑.๑.๑ แต่เป็นกรณีไม่ร้ายแรง หลังเกิดเหตุจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์ ๗ วัน โดยโจทก์ไม่ได้รับค่าจ้างเป็นการลงโทษตามระเบียบข้อบังคับการทำงานเอกสารหมาย ล.๒ ข้อ ๑๑.๒ เมื่อโจทก์ถูกลงโทษแล้วเท่ากับความผิดนั้นหมดไป จำเลยจะอ้างความผิดดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์อีกหาได้ไม่ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุเดิมข้างต้นจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๙๐ วัน โจทก์ทำงานกับจำเลยมาครบ ๑ ปี และยังไม่ได้ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามที่โจทก์ขอจำนวน ๖ วัน ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเพราะได้กระทำการไปในประการที่ไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๓๒,๑๓๐ บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน ๒,๑๔๒ บาท ค่าเสียหายจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท และออกใบสำคัญการทำงานให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ทะเลาะวิวาทกับนายโชคชัย นุ้ยทองคำ หัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัย เป็นการกระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยกับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นผู้เริ่มต้นก่อเหตุทะเลาะวิวาทขึ้นโดยกล่าววาจาหยาบคายและต่อว่านายโชคชัย เป็นเหตุให้นายโชคชัยบันดาลโทสะเข้าชกต่อยโจทก์ก็ตาม ก็เป็นเพียงกรณีที่โจทก์ถูกนายโชคชัยทำร้ายร่างกายแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยโจทก์มิได้ทำร้ายตอบโต้ และโจทก์มีตำแหน่งหัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัยเท่าเทียมกับนายโชคชัย ทั้งห้องเกิดเหตุก็เป็นห้องสำนักงานรักษาความปลอดภัยอันเป็นที่ทำงานเฉพาะส่วนของพนักงานรักษาความปลอดภัย บุคคลภายนอกไม่สามารถที่จะเข้าไปหรือเห็นเหตุการณ์หรือได้ยินเสียงทะเลาะวิวาทได้ จึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ (๔)เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุนี้จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์
พิพากษายืน.

Share