คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2781/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่ผู้ร้องครบทุกงวดแล้ว แม้จะชำระค่างวดล่าช้าไม่ตรงกำหนด แต่ผู้ร้องก็รับค่าเช่าซื้อจนครบทุกงวดตามสัญญาเช่าซื้อ โดยไม่ได้บอกเลิกสัญญา ถือว่ากำหนดเวลาชำระเงินไม่เป็นสาระสำคัญ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อของกลางจึงตกเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 และตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 3 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก่อน แม้ตามข้อ 9 ของสัญญาเช่าซื้อจะให้ผู้ร้องคิดดอกเบี้ยของเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระและค่าใช้จ่ายในการไปเก็บเงินดังกล่าวได้ ผู้ร้องก็ต้องไปเรียกร้องเอากับห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ซึ่งก็ไม่แน่ว่าผู้ร้องจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยดังกล่าวได้ตามสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ ทั้งข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เงื่อนไขที่จะไม่ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางตกเป็นสิทธิแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. แม้ผู้ร้องจะยังมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางตามหนังสือแสดงการจดทะเบียน ผู้ร้องก็มิใช่เจ้าของแท้จริง จึงไม่มีสิทธิขอคืนรถยนต์ของกลาง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 6, 10, 14, 15, 61, 73 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 และริบรถยนต์บรรทุกของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้สั่งคืนของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรร์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกของกลาง เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2536 ผู้ร้องได้ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดรามิศรการดินเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกของกลางในราคา 1,313,000 บาท ตกลงชำระเงินในวันทำสัญญา 53,500 บาท ที่เหลือผ่อนชำระงวดละ 35,000 บาท รวม 36 งวด ห้างหุ้นส่วนจำกัดรามิศรการดินได้ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนทุกงวดแล้ว เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2540 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกของกลางหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 เช่าซื้อคือ สัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว และตามข้อ 3 ของสัญญาเช่าชื้อ กรรมสิทธิ์และสิทธิการเป็นเจ้าของรถยนต์ที่เช่าซื้อตกเป็นของผู้เช่าซื้อ เมื่อผู้เช่าซื้อชำระเงินค่างวดเต็มตามราคาเช่าซื้อและตรงตามวันกำหนดชำระเงิน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดรามิศรการดินได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่ผู้ร้องครบทุกงวดแล้ว แม้จะชำระค่างวดล่าช้าไม่ตรงกำหนด แต่ผู้ร้องก็รับค่าเช่าซื้อจนครบทุกงวดตามสัญญาเช่าซื้อแล้วโดยไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ถือว่ากำหนดเวลาชำระเงินค่าเช่าซื้อไม่เป็นสาระสำคัญ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อของกลางจึงตกเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดรามิศรการดินทันทีตามกฎหมายและตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวโดยไม่จำต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก่อน แม้ตามข้อ 9 ของสัญญาเช่าซื้อจะให้ผู้ร้องคิดดอกเบี้ยของเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระและค่าใช้จ่ายในการไปเก็บเงินดังกล่าวได้ผู้ร้องก็ต้องไปเรียกร้องเอากับห้างหุ้นส่วนจำกัดรามิศรการดินซึ่งก็ไม่แน่ว่าผู้ร้องจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยดังกล่าวได้ตามสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ ทั้งข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เงื่อนไขที่จะไม่ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกของกลางตกเป็นสิทธิแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรามิศรการดิน ตามข้อ 3 ของสัญญาเช่าซื้อ แม้ผู้ร้องจะยังมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกของกลาง ผู้ร้องก็มิใช่เจ้าของแท้จริง จึงไม่มีสิทธิขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลาง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share