แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยโต้เถียงกันในประเด็นที่ว่าจะนำค่าเช่าที่ระบุในสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับผู้ให้เช่ามาถือเป็นค่ารายปีได้หรือไม่ มิได้โต้เถียงกันเกี่ยวกับรายรับรายจ่ายของสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ เอกสารบัญชีรายรับรายจ่ายเกี่ยวกับสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ ที่จำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกดังกล่าวจึงไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นพิพาท
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เงินที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัท พ. และบริษัท ร. มิใช่ค่าเช่าที่ดินอย่างเดียว หากแต่เป็นเงินค่าสิทธิที่โจทก์จะซื้อที่ดินในภายหน้าในราคาต่ำด้วย ที่จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวมากำหนดเป็นค่ารายปี เป็นการไม่ถูกต้องขอให้แก้ไขใบแจ้งการประเมิน คำฟ้องของโจทก์จึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ซึ่งจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้องแล้ว โจทก์ไม่จำต้องบรรยายคำฟ้องด้วยว่า ค่าเช่าจำนวนเท่าใด ค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินในราคาต่ำจำนวนเท่าใด คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ไม่เคลือบคลุม
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8 วรรคสาม หาได้ให้ถือว่าค่าเช่าเป็นค่ารายปีโดยเด็ดขาดไม่ เพราะค่ารายปีหมายความว่าจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 8 วรรคสอง หากค่าเช่ามิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจประเมินค่ารายปีโดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ ตามมาตรา 8 วรรคสาม การนำสืบว่าค่าเช่าตามสัญญาเช่าที่ดินรวมค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินในภายหน้าในราคาต่ำจึงหาต้องห้ามไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ค่าเช่าในสัญญาเช่าที่ดินรวมค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินในภายหน้าในราคาต่ำไว้ด้วย การที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดค่ารายปีโดยใช้ค่าเช่าตามสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวเป็นหลักในการคำนวณโดยมิได้พิจารณาถึงค่าเช่าที่แท้จริงจึงไม่ชอบ
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 ให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นหลักสำหรับการคำนวณภาษี ซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาเท่านั้น มิได้บังคับว่าจะต้องนำมาคำนวณภาษีโดยไม่อาจเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้ค่าเช่าซึ่งรวมค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินไว้ด้วยเป็นหลักในการคำนวณ อันเป็นการไม่ชอบ จึงไม่อาจนำค่ารายปีดังกล่าวมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณภาษีได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาแก้ไขใบแจ้งรายการประเมินเล่มที่ 39, 26, 13 เลขที่ 21, 5, 3 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2540 วันที่ 10 มีนาคม 2541 และวันที่ 11 มีนาคม 2540 ตามลำดับ และใบแจ้งคำชี้ขาดเล่มที่ 20 เลขที่ 30 และ 29 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2541 ตามลำดับ โดยกำหนดค่ารายปีใหม่ตามที่กล่าวในคำฟ้องรวมจำนวน 2,943,000 บาท คิดเป็นค่าภาษีจำนวน 367,875 บาท และให้จำเลยคืนเงินภาษีจำนวน 3,354,532.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระแก่โจทก์ครบถ้วน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 3,213,032.50 บาท แก่โจทก์ภายในสามเดือนนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนดสามเดือนที่นับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ประเด็นแรก โจทก์จำเลยโต้เถียงกันในประเด็นที่ว่าจะนำค่าเช่าที่ระบุในสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับผู้ให้เช่ามาถือเป็นค่ารายปีได้หรือไม่ มิได้โต้เถียงกันเกี่ยวกับรายรับรายจ่ายของสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ เอกสารบัญชีรายรับรายจ่ายของโจทก์เกี่ยวกับสถานีบริการน้ำมันที่จำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกจึงไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นพิพาท ที่ศาลภาษีอากรกลางไม่ออกคำสั่งเรียกให้ชอบแล้ว
ประเด็นที่สอง โจทก์บรรยายฟ้องว่าเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัทเพซเซตเตอร์ เอ็นเตอร์ไพรเซส จำกัด และบริษัทร่วมพัฒนาอุตสาหกิจ จำกัด มิใช่ค่าเช่าที่ดินอย่างเดียว หากแต่เป็นเงินค่าสิทธิที่โจทก์จะซื้อที่ดินในภายหน้าในราคาต่ำอีกด้วย ที่จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวมากำหนดเป็นค่ารายปีเป็นการไม่ถูกต้อง ขอให้แก้ไขใบแจ้งการประเมิน คำฟ้องของโจทก์จึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาซึ่งจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้องแล้ว โจทก์ไม่จำต้องบรรยายคำฟ้องด้วยว่า ค่าเช่าจำนวนเท่าใด ค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินในราคาต่ำจำนวนเท่าใด คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ไม่เคลือบคลุม
ประเด็นที่สาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่า ให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี
” ตามบทบัญญัติดังกล่าวหาได้ให้ถือว่าค่าเช่าเป็นค่ารายปีโดยเด็ดขาดไม่ เพราะค่ารายปีหมายความว่า จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 8 วรรคสอง หากค่าเช่ามิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจประเมินค่ารายปีโดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ ตามมาตรา 8 วรรคสาม การนำสืบว่าค่าเช่าตามสัญญาเช่าที่ดินรวมค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินในภายหน้าในราคาต่ำจึงหาต้องห้ามดังจำเลยอุทธรณ์ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ค่าเช่าในสัญญาเช่าที่ดินรวมค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินในภายหน้าในราคาต่ำไว้ด้วย การที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดค่ารายปีโดยใช้ค่าเช่าตามสัญญาเช่าที่ดินเป็นหลักในการคำนวณ โดยมิได้พิจารณาถึงค่าเช่าที่แท้จริงจึงไม่ชอบ
ประการสุดท้าย ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 กำหนดให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นหลักสำหรับการคำนวณภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาเท่านั้น มิได้บังคับว่าจะต้องนำมาคำนวณภาษีโดยไม่อาจเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ใช้ค่าเช่าซึ่งรวมค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินไว้ด้วยเป็นหลักในการคำนวณอันเป็นการไม่ชอบ จึงไม่อาจนำค่ารายปีดังกล่าวมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณภาษีได้
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์.