คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 506/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้เช่าเอาห้องไปให้เช่าช่วงแล้ว ภายหลังกลับฟ้องขับไล่ผู้เช่าช่วงโดยอ้างเหตุว่าผู้เช่าช่วงฝ่าฝืนทำสัญญาเช่าโดยรู้อยู่แล้วว่าผู้ให้เช่าเดิมห้ามเช่าช่วงนั้น ศาลยกฟ้อง
คำฟ้องมีประเด็นจะให้ศาลวินิจฉัยปัญหาอันหนึ่งด้วย แต่คู่ความต่างแถลงขอสืบในข้ออื่น ไม่ขอสืบในข้อนี้ และฎีกาของโจทก์ก็มุ่งอ้างในข้ออื่น ดังนี้ศาลฎีกาไม่ยกปัญหานั้นขึ้นวินิจฉัยให้

ย่อยาว

ความว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าห้องพิพาทจากกรมการศาสนา ฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าช่วงห้องพิพาทบางส่วนจากโจทก์ ชั้นพิจารณาโจทก์จำเลยรับกันว่า โจทก์แบ่งให้จำเลยเช่าช่วงห้องพิพาท ๑ ใน ๓ ค่าเช่าเดือนละ ๖๐ บาท การเช่าไม่ได้ทำหนังสือ จำเลยเข้าอาศัยทำการค้าน้ำมัน โจทก์ว่าให้เช่าเพียง ๓ เดือน และได้บอกเลิกการเช่า จำเลยว่าเช่า ๑ ปี และจำเลยว่าไม่ทราบว่าตามสัญญากรมการศาสนาไม่ให้เช่าช่วงคู่ความโต้เถียงกันว่า พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าคุ้มครองถึงการเช่าช่วงนี้หรือไม่และจะสืบพยานในเรื่องระยะเวลาการเช่าช่วง และจำเลยทราบว่ากรมการศาสนาไม่ให้เช่าช่วง
ศาลจังหวัดนครสวรรค์งดสืบพยานแล้ว พิพากษาว่า การเช่าช่วงก็คือการเช่า จึงอยู่ในความคุ้มครองของ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ ม.๑๖(๓) เป็นเรื่องไม่คุ้มครองผู้เช่าที่ให้เช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าเมื่อกรมการศาสนายังไม่เข้าเกี่ยวข้อง นิติกรรมระหว่างโจทก์จำเลยยังดีอยู่ แม้สัญญาจะสิ้นอายุ กฎหมายก็คุ้มครองให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า จำเลยได้เช่าโดยรู้ว่ากรมการศาสนาห้ามเช่าช่วง ควรให้สืบพยานว่า จำเลยฝ่าฝืนกระทำโดยไม่สุจริตอันเป็นโมฆะ จึงไม่อยู่ในความคุ้มครอง
ศาลฎีกาเห็นว่า พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ๒๔๘๙ ม.๑๖ เฉพาะตอนที่โจทก์ฎีกานั้นไม่ได้บังคับถึงผู้เช่าช่วงแต่เป็นเรื่องผู้ให้เช่าเดิมฟ้องขับไล่ผู้เช่าที่เอาห้องไปให้เช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอม โจทก์เองก์ฝ่าฝืนในการทำสัญญาให้เช่าช่วงด้วยเหมือนกัน อนึ่งโจทก์ฟ้องไปในทางว่าจำเลยเช่าเพื่อค้าและมีที่อยู่อาศัยที่อื่นแล้ว จำเลยต่อสู้ว่าเช่าทำการค้าและอยู่อาศัยด้วย จึงเป็นปัญหาว่าจะอยู่ในความควบคุมแห่งพ.ร.บ.นี้หรือไม่ แต่คุ่คตวามต่างจะขอสืบในข้ออื่น ไม่ขอสืบในข้อนี้ โจทก์คงฎีกามุ่งอ้างข้อเดียวตาม ม.๑๖ เท่านั้น
พิพากษายืน

Share