แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีมรดกอันจะต้องบังคับตามกฎหมายอิสลามในเขต 4 จังหวัดนั้นจะต้องมีดะโต๊ะยุติธรรม 1 นายนั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษา โดยผู้พิพากษาวินิจฉัยข้อเท็จจริงได้ความอย่างไรแล้ว ให้ดะโต๊ะยุติธรรมวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ที่พิพาทราคา 5,000 บาท เป็นของตายายโจทก์เจ้ามรดก ตกได้แก่โจทก์จำเลยและ ม.ซึ่งเป็นหลายตามกฎหมายกิตับศาสนาอิสลาม เพราะเจ้ามรดก, โจทก์, จำเลย และ ม.เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม แต่ยังหาได้แบ่งปันกันไม่ คงปกครองร่วมกันขอให้ศาลแบ่งเป็น 5 ส่วน ให้ได้แก่โจทก์, จำเลย คนละ 2 ส่วน ม.ได้ 1 ส่วนตามกิตับศาสนาอิสลาม จำเลยให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์และว่าบางแปลงจำเลยได้ขายให้แก่ผู้มีชื่อไปแล้ว ที่พิพาทไม่ใช่มรดก แม้เป็นมรดกโจทก์ฟ้องเกิน 1 ปี คดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ที่พิพาทเป็นของบิดามารดาจำเลยยกให้จำเลยครอบครองมา 20 ปีเศษ พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า เป็นที่ดินมรดกอันต้องแบ่งปันกัน และจำเลยมิได้คัดค้านข้อที่โจทก์อ้างว่าจะต้องบังคับตามกฎหมายอิสลามศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น หาได้ฟังว่าเป็นคดีมรดกไม่จึงมิได้ปรับคดีด้วยกฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมือง ร.ส. 120 และพระราชบัญญัติใช้กฎหมายอิสลามในเขต 4 จังหวัด 2489 พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นซึ่งมีดะโต๊ะยุติธรรม 1 นายนั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษามาแล้วนั้นพิพากษาคดีเสียใหม่ โดยให้ดะโต๊ะยุติธรรมวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาตามนัยมาตรา 4 พระราชบัญญัติใช้กฎหมายอิสลามในเขต 4 จังหวัด 2489 โดยถือตามข้อเท็จจริงซึ่งฟังว่า ที่วิวาท 4 แปลงเป็นมรดกปกครองร่วมกันมาระหว่างโจทก์จำเลย ซึ่งยังมิได้แบ่งปันกันนั้น จะบังคับตามคำขอของโจทก์ได้เพียงไรหรือไม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงเห็นพ้องตามศาลอุทธรณ์
พิพากษายืน