คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อทะเบียนตำรับยาซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยเกษมผู้เสียหายได้ขึ้ยทะเบียนไว้ ได้ถูกยกเลิกไปโดยผลแห่งพระราชบัญญัติการขายยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2505 มาตรา 15 วรรคแรกแล้ว จำเลยจะอาศัยทะเบียนตำรับยาดังกล่าวสั่งยาเข้ามาจำหน่ายอีกไม่ได้ มาตรา 15 วรรค 2 บัญญัติยกเว้นให้เฉพาะเจ้าของผู้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้วเท่านั้น โดยผ่อนผันให้ขายยาเก่าไปได้อีก 1 ปี หาได้ร่วมถึงบุคคลอื่นซึ่งอาศัยทะเบียนตำรับยาของคนอื่นสั่งยาเข้ามาจำหน่ายดังกรณีของจำเลยไม่
จำเลยรู้ดีแล้วว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยเกษมผู้เสียหายเป็นผู้ขึ้นทะเบียนตำรับยาสำเร็จรูปเลขที่ 869/2502 ไว้ก่อนแล้ว หาใช่ห้างหรือบริษัทอื่นไม่ ดังนี้ การที่จำเลยประกาศโฆษณาว่า มีบุคคลกระทำผิดกฎหมายเลียนแบบผลิตยาออกจำหน่าย ทั้งยังแอบอ้างใช้เลขทะเบียนปิดอยู่หน้ากล่าองยา เช่นนี้ ย่อมเข้าใจได้ว่าหมายถึงห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยเกษม ผู้เสียหายเป็นผู้ปลอมแปลงผลิตยาเลียนแบบออกจำหน่าย อันเป็นเท็จ เจตนาจะให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยเกษมเสียความเชื่อถือโดยมุ่งประโยชน์แก่การค้าของจำเลย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 272.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง ๒ ร่วมกันกระทำผิด คือ (ก) ระหว่างวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ถึง ๙ กันยายน ๒๕๐๕ นำยาเม็ดชื่อเขี่ยงชิมอันเป็นยาสำหรับคนบริโภค ซึ่งผลิตหรือปรุงขึ้นตามตำรับนอกตำราฟาร์มาโคเปีย หรือตำราใด ๆ ซึ่งรัฐมนตรีประกาศระบุไว้ในราชกิจจานุเบกษาเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย โดยไม่มีใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาตามกฎหมาย (ข) ระหว่าง ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ถึง ๕ ตุลาคม ๒๕๐๖ ร่วมกันขายยาดังกล่าว (ค) ระหว่างวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๐๕ ถึงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๐๕ ร่วมกันไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความเท็จ เพื่อให้เสียความเชื่อถือในสถานที่การค้า สินค้าและการพาณิชย์การเกี่ยวกับยาดังกล่าวของห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยเกษมผู้เสียหายโดยมุ่งหมายแก่การค้าของจำเลย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ.๒๔๙๓ มาตรา ๑๔,๑๕,๓๑ พระราชบัญญัติการขายยา(ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๐๕ มาตรา ๓,๑๑ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๒
จำเลยทั้ง ๒ ให้การปฏิเสธ
ศาลแขวงพระนครใต้เห็นว่าตามฟ้องและข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายรับกันพอแก่การวินิจฉัยคดีได้แล้ว ให้งดสืบพยานและพิพากษาว่า จำเลยทั้ง ๒ ผิดตามพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๔,๑๕,๓๑ และ พระราชบัญญัติการขายยา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๐๕ มาตรา ๓,๑๑ ปรับจำเลยคนละ ๓๐๐ บาทข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๒ จำเลยไม่ผิดให้ยกฟ้อง เฉพาะข้อนี้
โจทก์จำเลยทั้ง ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยทั้ง ๒ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๒ ด้วย ปรับคนละ ๕๐๐ บาท นอกนั้นยืน
จำเลยทั้ง ๒ ฎีกาขอให้ปล่อยจำเลย
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติการขายยา(ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๐๕ มาตรา ๑๕ บัญญัติให้ยกเลิกการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่ได้กระทำไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และมาตรา ๒ ให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป พระราชบัญญัติดั่งกล่าวนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๐๕ ฉะนั้น ทะเบียนตำรับยาเลขที่ ๘๖๙/๒๕๐๒ ซึ่งผู้เสียหายได้ขึ้นทะเบียนไว้ต่อกระทรวงสาธารณสุขจึงถูกยกเลิกไปตั้งแต่ วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๐๕ แล้ว จำเลยจะอาศัยทะเบียนตำรับยาเลขที่ ๘๖๙/๒๕๐๒ สั่งยาเขี่ยงซิมของบริษัทยู่เซ็ง ไต้หวัน เข้ามาจำหน่ายภายหลังที่ทะเบียนตำรับยาได้ถูกยกเลิกไปแล้วหาได้ไม่ ส่วนมาตรา ๑๕ วรรค ๒ ที่บัญญัติว่า ส่วนยาที่ได้ยกเลิกการขึ้นทะเบียนดังกล่าวให้ขายได้ต่อไปอีกภายในกำหนด ๑ ปีนั้น กฎหมายก็ยกเว้นให้เฉพาะเจ้าขอผู้ขึ้นทะเบียนดังกล่าวให้ขายได้ต่อไปอีกภายในกำหนด ๑ ปีนั้น กฎหมายก็ยกเว้นให้เฉพาะเจ้าของผู้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้วเท่านั้นโดยผ่อนผันให้ขายยาเก่าไปได้อีก ๑ ปี หาได้รวมถึงบุคคลอื่นซึ่งอาศัยทะเบียนตำรับยาของคนอื่นสั่งยาเข้ามาจำหน่ายดังกรณีของจำเลยนี้ไม่ การขึ้นทะเบียนตำรับยาที่กระทำไปก่อนแล้วทั้งหมดเป็นอันยกเลิกไปสิ้น จะต้องทำการขึ้นทะเบียนตำรับยากันใหม่อีก ทั้งจำเลยรับว่าได้ยื่นคำร้องขอขึ้นทะเบียนตำรับยาดังกล่าวตั้งแต่มิถุนายน ๒๕๐๕ จนบัดนี้กระทรวงสาธารณสุขก็ยังไม่อนุญาต ฉะนั้นเมื่อทะเบียนตำรับยาที่ ๘๖๙/๒๕๐๒ มิใช่ทะเบียนที่จำเลยได้ขอขึ้นเอาไว้ จำเลยย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากการผ่อนผันตามมาตรา ๑๕ วรรค ๒ เมื่อจำเลยรับตามฟ้อง จำเลยจึงมีความผิด
ส่วนที่จำเลยลงประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์จีนมีข้อความตามคำแปลว่า ตามทะเบียนยาสำเร็จรูปของกรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทยที่ ๘๖๙/๒๕๐๒ เป็นทะเบียนยาเม็ดเขี่ยงซิมของโรงงานอิวแซไต้หวัน แต่เนื่อจากเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีบุคคลกระทำผิดกฎหมายเลียนแบบผลิตออกจำหน่าย ทั้งยังแอบอ้างใช้เลขทะเบียนปิดอยู่หน้ากล่องยา การกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำผิดต่อกฎหมาย นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ประกาศฉบับนี้มิได้ระบุชื่อผู้เสียหาย แต่จำเลยรู้ดีแล้วว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยเกษมผู้เสียหายเป็นผู้ขึ้นทะเบียนตำรับยาสำเร็จรูปเลขที่ ๘๖๙/๒๕๐๒ ไว้ก่อนแล้ว หาใช่ห้างหรือบริษัทอื่นใดเป็นผู้ขึ้นทะเบียนเลขที่ดังกล่าวไว้ไม่ เช่นนี้ ย่อมเข้าใจได้ว่าจำเลยหมายถึงห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยเกษมผู้เสียหายเป็นผู้ปลอมแปลงผลิตยาเลียนแบบออกจำหน่าย อันเป็นความเท็จ ซึ่งบ่งเจตนาของจำเลยที่จะให้ผู้เสียหายเสียความเชื่อถือโดยมุ่งประโยชน์แก่การค้าของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๒ อีกด้วย พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์.

Share