คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1475/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพยายามกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80 นั้น เป็นความผิดแล้ว เพียงแต่ต้องระวางโทษต่ำกว่าความผิดสำเร็จเท่านั้น ฉะนั้น ความผิดที่จำเลยกระทำในคดีนี้ย่อมเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 41(8) แล้วถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัยและพิพากษาให้กักกันจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ลักสร้อยคอทองคำ ๑ สาย ซึ่งสวนอยู่ที่คอของเด็กชายชูเกียรติ พ่วงตระกูล บุตรผู้เสียหาย โดยจำเลยใช้กรรไกรตัดสร้อยนั้น แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะผู้เสียหายขัดขวางไว้ ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำคุกไม่น้อยกว่า ๖ เดือนเกี่ยวกับทรัพย์มาแล้ว พ้นโทษมาไม่เกิน ๓ ปีกระทำความผิดซ้ำในอนุมาตราเดียวกันอีกและจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์มาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ครั้ง พ้นโทษไม่เกิน ๑๐ ปี กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์อีก เป็นผู้กระทำผิดติดนิสัย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕(๙),๘๐,๙๓,๔๑ ขอให้กักกันและริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕(๙),๘๐ ให้จำคุก ๓ ปี เพิ่มโทษไม่เข็ดหลาบตามมาตรา ๙๓ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๔ ปี ๖ เดือน ลดรับสารภาพจำคุก ๒ ปี ๓ เดือน ริบของกลางเมื่อรับโทษคดีนี้แล้ว ให้กักกันมีกำหนด ๓ ปี
จำเลยอุทธรณ์ว่ายังไม่ได้ลดส่วนโทษฐานพยายามให้จำเลย และความผิดของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ มิได้เข้าข่ายที่จะลงโทษกักกันจำเลยได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่า ความผิดของจำเลยเป็นความผิดเพียงฐานพยายามยังไม่เป็นเหตุสมบูรณ์ ซึ่งจะต้องกักกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๔๑
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๐ วรรค ๒ บัญญัติว่า “ผู้ใดพยายามกระทำ ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ำสำหรับความผิดนั้น” จึงเห็นได้ว่าการพยายามกระทำผิดเป็นความผิดแล้ว เพียงแต่ต้องระวางโทษต่ำกว่าความผิดสำเร็จเท่านั้น ฉะนั้น ความผิดที่จำเลยกระทำในคดีนี้ย่อมเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๔๑(๘) แล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย และพิพากษาให้กักกันจำเลยได้
พิพากษายืน

Share