แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานกักกันข้าวในเขตต์ห้ามกักกันข้าว ในระหว่างพิจารณาได้มี พระราชบัญญัติสำรวจและห้ามกักกันข้าว (ฉะบับที่ 2) 2489 ออกใช้ ซึ่งบัญญัติว่าผู้มีข้าวเกินปริมาณจะมีผิดต่อเมื่อไม่แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บข้าวภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายฉะบับเดิมและเป็นคุณแก่จำเลย เมื่อการกระทำของจำเลยไม่มีผิดตาม ก.ม.ฉะบับหลัง ก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ ตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 8
(อ้างฎีกาที่ 621-622 / 2491)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องหาว่า เมื่อระหว่าง ๑๕ มีนาคม ๒๔๘๙ ถึง ๑ พฤษภาคม ๒๔๘๙ จำเลยกักกันข้าวในเขตต์ห้ามกักกันข้าว โดยมีข้าวเปลือกไว้ในครอบครอง ๒๕ เกวียน โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษจำเลย จำเลยให้การว่าข้าวเปลือก ตามฟ้องจำเลยได้แจ้งปริมาณต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๔๘๙ แต่เจ้าหน้าที่ไม่รับแจ้งอ้างว่า พ้นกำหนดแล้ว ความจริงจะพ้นกำหนดหรือยัง จำเลยไม่ทราบ กับต่อสู้ว่า เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๔๘๙ จำเลยมีข้าวอยู่ ๓ เกวียน นอกนั้นเพิ่มขึ้นภายหลัง ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในระหว่างพิจารณาคดีนี้ ได้มี พ.ร.บ.สำรวจและห้ามกักกันข้าว (ฉะบับที่ ๒) ๒๔๘๙ ออกใช้ ซึ่งบัญญัติว่า ผู้มีข้าวเกินปริมาณจะมีผิดก็ต่อเมื่อไม่แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายฉะบับเดิม และเป็นคุณแก่จำเลย ก็ลงโทษจำเลยไม่ได้
พิพากษายืน