คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1063/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 798 ที่บัญญัติว่า การตั้งตัวแทนต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ สำหรับกิจการที่ท่านบังคับไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น เป็นกรณีสำหรับการที่บุคคลกระทำการตั้งตัวแทนโดยมีการตกลงกันระหว่างตัวการและตัวแทนเช่นนั้นจริง ๆ
ส่วนมาตรา 821 นั้น เป็นกรณีที่มิได้มีการตั้งตัวแทนกันโดยจริงจัง แต่ว่าเป็นกรณีที่บุคคลหนึ่งแสดงออกต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต หรือยอมให้บุคคลอีกบุคคลหนึ่งแสดงออกต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตนั้น ให้เขาหลงเชื่อว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน กฎหมายจึงบัญญัติให้บุคคลซึ่งแสดงออกหรือยอมให้เขาแสดงออกซึ่งความไม่จริงนั้น ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต เสมือนหนึ่งว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน
ฉะนั้นในกรณีที่บุคคลภายนอกฟ้องร้องจำเลยให้ต้องรับผิดในการกระทำอันไม่เป็นจริงของจำเลย โดยการเชิดผู้อื่นให้เขาหลงเชื่อว่าเป็นตัวแทนของตนแล้ว จำเลยจะอ้างมาตรา 798 มาแก้ตัวให้พ้นจากความรับผิดไม่ได้

ย่อยาว

ความว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญบริษัทกรุงเทพฯพาณิชย์ มีชื่อผู้ถือหุ้นเพียง ๒ คน คือจำเลยทั้งสองและนายบุญศรีจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการ ได้ทำสัญญาซื้อเรือยนตร์ “ไทยเสน่ห์” จากโจทก์ โดยนายประพันธ์ (ถึงแก่กรรมแล้ว) เป็นผู้ลงนามเป็นคู่สัญญากับโจทก์แทนจำเลยและห้างหุ้นส่วนกรุงเทพฯพาณิชย์ แต่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ติดต่อตกลงด้วยตนเอง โจทก์ได้ส่งมอบเรือยนตร์ให้แก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระราคาตามกำหนด โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินค่าเรือแก่โจทก์ และรับโอนกรรมสิทธิ เรือไปจากโจทก์
ศาลชั้นต้นเห็นว่า นายประพันธ์เป็นผู้จัดการ และมีอำนาจลงนามแทนห้างหุ้นส่วน จึงเป็นการปิดปากจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในบริษัทกรุงเทพฯพาณิชย์ด้วย และเมื่อตัวจำเลยเองเป็นผู้ไปทำการตกลงในการซื้อขายตั้งแต่เริ่มแก จึงไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ จำเลยต้องรับผิดชอบตามสัญญาซื้อขาย พิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าเรือ และรับโอนกรรมสิทธิ์เรือไปจากโจทก์ตามสัญญา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา ๗๙๘ ที่บัญญัติว่าการตั้งตัวแทน ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือเป็นหนังสือ สำหรับกิจการที่ท่านบังคับไว้ว่า ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น เป็นกรณีสำหรับการที่บุคคลกระทำการตั้งตัวแทนโดยมีการตกลงกันระหว่างตัวการและตัวแทนเช่นนั้นจริง ๆ ส่วนมาตรา ๘๒๑ นั้นเป็นกรณีที่มิได้มีการตั้งตัวแทนกันจริงจัง แต่ว่าเป็นกรณีที่บุคคลหนึ่งแสดงออกต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต หรือยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งแสดงออกต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตนั้น ให้เขาหลงเชื่อว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน กฎหมายจึงบัญญัติให้บุคคลซึ่งแสดงออกหรือยอมให้เขาแสดงออกซึ่งคามไม่จริงนั้น ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนหนึ่งว่า บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน จึงเป็นคนละกรณี และไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา ๗๙๘ แต่ประการใด
พิพากษายืน

Share